หลักการเทรดโดยใช้การดูพฤติกรรมของราคา (Price Action) แท่งเทียน Fibonacci และเครื่องมือต่างๆ ในการทำกำไร ตอนที่ 1

หลักการเทรดโดยใช้การดูพฤติกรรมของราคา (Price Action)  แท่งเทียน Fibonacci และเครื่องมือต่างๆ  ในการทำกำไร ตอนที่ 1
สวัสดีครับ เทรดเดอร์จากตลาดทุนทุกท่าน 
วันนี้ผมตั้งใจจะเขียนบทความนี้เพื่อมอบให้กับนักลงทุนชาวไทยทุกคนเพื่อเป็นของขวัญมอบให้เนื่องจากวันปีใหม่ 2559 ขอให้ทุกท่านที่อ่านบทความนี้ประสบความสำเร็จในการเทรดนะครับ 
กราฟที่ทุกคนได้เห็น เป็นกราฟทองในช่วงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 ถึงวันนี้ วันที่ 12 ธันวาคม 2558  ภาพรวมของราคาทองคำในปีนี้ร่วงลงมาประมาณ 260 เหรียญ จากราคา 1306 ถึงราคา 1046 ซึ่งเป็น Low  ล่าสุด และเป็น Low ที่ทางกองทุน Hedgefund ได้คาดการณ์ไว้ตั้งแต่สามปีที่แล้ว วันนี้มันลงมาถึงแล้วครับ 1050 
เครื่องมือที่ผมได้ยกมาใช้กับระบบนี้คือ 
1.แท่งเทียน 
แท่งเทียนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผม ผมสามารถดูพฤติกรรมของราคาได้จากราคาแท่งเทียนและพฤติกรรมที่แสดงออกมาเป็นรูปแบบในแต่ละประเภท มันสามารถบอกความหมายต่างๆและพฤติกรรมของนักลงทุนในขณะนั้นได้อย่างชัดเจน สิ่งที่เทรดเดอร์ทุกท่านต้องรู้ก็คือ ความหมายของแท่งเทียนในรูปแบบต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบแท่งเทียนแบบเดียว (Single Candlestick ) รูปแบบแท่งเทียนแบบคู่ (Duo Candlestick) และรูปแบบแท่งเทียนแบบกลุ่ม (Tripple Candlestick) 
 2.Fibonacci 
 Fibonacci เป็นเครื่องมือหนึ่งที่นิยมในตลาด มีไว้เพื่อหาแนวรับแนวต้านและหาเป้าหมายของราคา  ผมให้ความสำคัญกับตัวเลข Fibonacci ในแต่ละระดับมาก เพราะในแต่ละระดับก็จะบอกความหมายที่แตกต่างกัน เช่น Fibonacci ที่ 38.2 -61.8% คือ แนวรับและแนวต้านที่ราคาใช้ปรับฐาน    ระดับ 161.8 % เป็น Golden Ratio จะใช้เป็นจุดทำกำไร เป้าหมายของราคาและเป็นแนวรับแนวต้านที่แข็งแรง (strong) ผมเลือกใช้ Fibonacci Retracement ในระบบนี้ สิ่งที่เทรดเดอร์ทุกคนต้องเรียนรู้คือหลักการใช้ Fibonacci Retracement 
3.Trendline  
เทรนไลน์ เป็นเครื่องมือที่นิยมใช้มากในตลาด เพราะเทรนไลน์ สามารถบอกแนวโน้มให้กับเราได้ สามารถบอกแนวรับและแนวต้านล่วงหน้าได้  สามารถบอกราคาเข้าและราคาที่เราจะออกได้ และสามารถบอกช่องทางการวิ่งของราคาได้ (Channel)  
4.Bollinger Band 
โบลินเจอร์แบนด์ เป็นอินดิเคเตอร์ตัวหนึ่ง จัดอยู่ในประเภทของ Trend indicator ชื่อมันก็บอกอยู่แล้ว ว่าเป็นตัวชี้วัดทิศทางแนวโน้มของตลาด ส่วนประกอบของ Bollinger Band ประกอบด้วยสามเส้นหลักๆ เส้นแรก คือ Upper Band เส้นแถบด้านบน จะมีหน้าที่เป็นแนวต้านและบอกแนวโน้มขาขึ้นที่ชัดเจนหากราคาเกาะแถบด้านบนขึ้นไปเรื่อยๆ เส้นที่สอง คือ Middle Band  เส้นแถบตรงกลาง ทำหน้าที่เป็นแนวรับแนวต้านเหมือนกัน จะเป็นเส้นค่าเฉลี่ยของราคา สามารถบอกจุดเปลี่ยนของแนวโน้มได้ และสามารถใช้เป็นราคาออกได้ (Exit price) เส้นที่สาม คือ เส้น Lower Band เส้นแถบด้านล่าง เส้นนี้จะทำหน้าที่เป็นแนวรับและแนวต้าน หากราคาเกาะแถบด้านล่างลงมาเรื่อยๆ จะบอกถึงแนวโน้มขาลงที่แข็งแกร่งและจะไหลลงเรื่อยๆ (Strong trend) 
5.Moving Average 
เส้นค่าเฉลี่ย เป็นที่นิยมมาก เพราะใช้งานง่าย สามารถใช้เพื่อบอกแนวโน้มและทิศทางของตลาดได้ การใช้งานขึ้นอยู่กับความต้องการของเทรดเดอร์ ว่าอยากดูแนวโน้มแบบระยะสั้นหรืออยากดูแนวโน้มระยะยาว ถ้าอยากใช้เพื่อดูแนวโน้มระยะสั้นก็เลือกใช้ Moving average ที่มี Period น้อยๆ แต่ถ้าอยากใช้เพื่อดูแนวโน้มระยะยาวก็เลือกใช้ Moving average ที่มี Period สูงๆ นะครับ  Moving Average ผมจะใช้มันเพื่อบอกทิศทางของตลาด และถ้าราคาอยู่สูงกว่าเส้นค่าเฉลี่ย ผมจะใช้มันแทนแนวรับ แต่ถ้าราคาอยู่ใต้เส้นค่าเฉลี่ย ผมจะใช้มันเป็นแนวต้าน 
6.Relative Strength Index ( RSI) 
ดัชนีชี้วัด RSI เป็นเครื่องมือวัดการแกว่งของราคาได้เป็นอย่างดี (Oscillator Indicator) มันมีระดับวัดการแกว่งของราคาตั้งแต่ 0-100 หลักการทั่วไปคือ หากราคาอยู่สูงกว่าระดับ 70 นั้นมันหมายความว่าตลาด ณ เวลานั้นมีแรงซื้อเยอะเกินไป (Overbought ) และหากราคาอยู่ต่ำกว่าระดับ 30  หมายความว่าตลาด ณ เวลานั้นมีแรงขายเยอะเกินไป (Oversold) และหากราคาอยู่ในระดับ 50 นั่นมันหมายความว่า ราคากำลังจะเลือกทิศทาง หรือ กำลัง Sideway อยู่ นี่คือหลักการทั่วไปครับ แต่สำหรับผมจะไม่ใช้มันแค่นี้ครับ เพราะมันไม่สามารถดึง Performance ของดัชนีตัวนี้ออกมาได้เต็มที่ การใช้งาน RSI ของผม คือ การดู Cycle ของราคา ดูว่าเมื่อไหร่จะเคลื่อนที่ครบรอบของมัน เมื่อมันเคลื่อนที่ครบรอบมันก็จะถึงเวลาที่ราคาจะเปลี่ยนทิศทาง การดูร่วมกับเทรนด์ หากแนวโน้มของตลาดเป็นขาขึ้น ก็ให้เทรดที่ระดับ 50-70 และ ความชันของ RSI ต้องเป็นบวกจึงจะสามารถเทรดได้ แต่หากราคาเป็นแนวโน้มขาลง ให้เทรดที่ระดับ 30-50 และต้องให้ความชันของ RSI ชี้ลงหรือเป็นลบเท่านั้นนะครับ 
7.Wave 
คลื่นของราคาเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดสำหรับผม เพราะมันจะสามารถทำให้ผมมองภาพรวมของตลาดได้ สามารถคาดเดากราฟในอนาคตได้ ถึงแม้ว่ามันจะมีตัวเลือกให้เราเดาทิศทางของกราฟมากมาย แต่มันก็สามารถบอกเป้าหมายให้กับเราได้ การเรียนรู้เรื่องคลื่น เทรดเดอร์ทุกคนต้องมีความรู้เรื่องการนับคลื่น Elliot wave ทฤษฎีนี้มันอาจจะยากสำหรับเทรดเดอร์ แต่ถ้าหากเรารุ้ไว้ ก็จะส่งผลดีกับตัวเราครับ หลักการนับคลื่นง่ายๆคือ 1 2 3 4 5 a b c จะแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ คลื่นที่เป็นเทรนด์ และคลื่นที่เป็นการปรับตัว คลื่นที่เป็นเทรนด์ Impulse หรือ Trend wave ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่า มันถูกกระตุ้น (Impulse) ด้วยเหตุการณ์ต่างๆ จึงทำให้ราคาเกิดแนวโน้ม เมื่อเกิดแนวโน้มแล้วก็จะเกิดการทำกำไรมันก็จะเกิดเป็นคลื่นปรับตัวหรือ Collection wave คลื่นแห่งการเก็งกำไร การปรับตังของราคามันก็จะมีรูปแบบของมันหลากหลาย รูปแบบทั่วไปของกราฟเราสามารถดึงมาใช้กับการปรับตัวได้ทั้งหมด การนับคลื่นให้แยกเป็นสองส่วนนะครับ เพื่อให้เข้าใจง่าย ผมจะแบ่งเป็น คลื่นขาขึ้นและคลื่นขาลง   คลื่นขาขึ้นหรือคลื่นแห่งความกล้า จะอยู่ในสภาวะที่ตลาดเป็นขาขึ้น นักลงทุนมีความมั่นใจทางบวกว่าราคาจะขึ้นแน่นอน แนวโน้มของเศรษฐกิจมีทิศทางที่ดี ให้นับ  1 2 3 4 5  a b c  คลื่น 1 3 5 เป็นเทรนด์ และคลื่น 2 -4 เป็น คลื่นปรับตัว ส่วน a b c เป็นคลืนปรับตัวของความยาวคลื่นทั้งหมด และคลื่นขาลง คลื่นแห่งความกลัว ให้เทรดเดอร์นับขาลงทั้งหมด จำไว้นะครับ ขาลงใช้เวลาเพียงเล็กน้อย เพราะเทรดเดอร์ทุกคนมีความกลัว การตื่นตะหนก ทำให้ราคาร่วงลงอย่างเฉียบพลัน หลักการนับก็ทำตรงข้ามกับคลื่นขาขึ้นนะครับ เห็นมั้ยครับ ว่า Wave มันมีความยาก หากเราไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย ก็อาจจะไม่รู้เรื่องและไม่สามารถจินตนาการได้ว่าผมเขียนอะไร??? ไปเรียนรู้กันนะครับ ไม่ยากอย่างที่เราคิด 
วันนี้คงพอแค่นี้ก่อนนะครับ ไว้มาอ่านบทความของผมใหม่ ใน หลักการเทรดโดยใช้การดูพฤติกรรมของราคา (Price Action)  แท่งเทียน Fibonacci และเครื่องมือต่างๆ  ในการทำกำไร ตอนที่ 2 นะครับ 
หากเทรดเดอร์ท่านใดเห็นว่าบทความของผมมีประโยชน์ สามารถแชร์ให้กับเพื่อนๆได้เลยครับ 

ขอบคุณมากครับ
แมค http://www.thaiforexschool.com/

ความคิดเห็น

เรื่องราวที่น่าสนใจ