เงินเฟ้อ (Inflation)

ในหลายประเทศจากที่ทราบกันดีว่าไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว กำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนา ต่างมีปัญหาด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหา เรื่องสิ่งแวดล้อม ประชากร หรือแม้แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดสำหรับในทุก ๆ ประเทศนั้น ก็คือ ปัญหาทางด้านการเงินของประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่ ซับซ้อนและยุ่งยากต่อการแก้ไข

ความหมายของเงินเฟ้อ

เงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้าสูงขึ้นเรื่อยๆ (Rising Prices) การที่สินค้ามีระดับราคาสูง (High Prices) ไม่ถือว่าเป็นเงินเฟ้อ จำเป็นต้องสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงจะเป็นเงินเฟ้อ
อย่างไรคือเงินเฟ้อ ?
จากความเข้าใจของประชาชนทั่ว ๆ ไปว่า เงินเฟ้อเกิดเมื่อราคาของสินค้าต่าง ๆ มีการปรับตัวสูงขึ้น แต่จริง ๆ แล้วการเกิดภาวะเงินเฟ้อนี้ไม่จำเป็นที่ว่า สินค้าทุกตัวต้องมีราคาสูงขึ้นเหมือนกันหมด อาจเป็นได้ที่สินค้าบางชนิดมีราคาสูงขึ้น แต่อีกบางชนิดมีราคาลดลง แต่สิ่งที่สำคัญ นั่นคือ ราคารวมทั้งหมดโดยเฉลี่ยแล้วสูงขึ้น สิ่งที่วัดความเปลี่ยนแปลงของระดับราคา คือ ดัชนีราคา (Price Index) และมีปัจจัยที่จะชี้ให้เราทราบว่าเกิดภาวะเงินเฟ้อ คือ เวลา ในการเกิดเงินเฟ้อเราไม่สามารถที่จะวัดได้ว่าต้องเกิดขึ้นนานเป็นระยะเวลาเท่าใด หรืออัตราของราคาสินค้าต้องสูงขึ้นเป็นจำนวนเงินเท่าใด โดยทั่วไปจะถือว่าระดับราคาสินค้าสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเร็วเพียงใดถือว่าเกิดเงินเฟ้อ
เงินเฟ้อที่ถูกกดดัน คืออะไร ?
จากความหมายของเงินเฟ้อข้างต้น ไม่จำเป็นว่าการเกิดเงินเฟ้อต้องเกิดในลักษณะนี้เสมอไป จะมีเงินเฟ้ออยู่อีกประเภทหนึ่งที่ไม่ปรากฎการขึ้นลงของราคา เนื่องจากราคาสินค้าถูกมาตรการบางอย่างตรึงราคาไว้ เช่น การปันส่วน การควบคุมราคา ฯลฯ และจะเกิดขึ้นบ่อยในยามที่เกิดการขาดแคลนสินค้าอย่างรุนแรง หรือเวลาเกิดสงคราม เงินเฟ้อชนิดนี้เรียกว่า เงินเฟ้อที่ถูกกดดัน (Suppressed Inflation)

ประเภทของเงินเฟ้อ

เงินเฟ้อมี 2 ประเภท ดังนี้
  1. เงินเฟ้ออย่างอ่อน (Creeping or Gradual or Mild Inflation) เงินเฟ้อประเภทนี้ จะสามารถสังเกตได้ว่าระดับราคาของสินค้าจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ แต่ก็เป็นอันตรายและสามารถสร้างปัญหาให้กับประเทศอุตสาหกรรมได้เช่นกัน นักเศรษฐศาสตร์มองว่า เงินเฟ้อประเภทนี้ อาจให้ประโยชน์แก่เศรษฐกิจในด้านของการเพิ่มสูงขึ้นของราคาจะช่วยกระตุ้นการบริโภคของประชากร , อัตราการลงทุนสูงขึ้น ดังนั้นรายได้จะสูงขึ้น แต่ถ้ากลับมองในอีกแง่หนึ่งถ้าเรากำจัดเงินเฟ้อประเภทนี้ อาจก่อให้เกิดการว่างงานมากขึ้น
  2. เงินเฟ้ออย่างรุนแรง (Hyperinflation) เงินเฟ้อประเภทนี้จะสามารถสังเกตได้จากการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้าอย่างรวดเร็วและรุนแรง เช่น เมื่อซื้อสินค้าในวันหนึ่ง ๆ จะได้ราคาที่แตกต่างกันในแต่ละช่วง คือ เช้าราคาหนึ่ง สายก็อีกราคาหนึ่งแต่พอตกเย็นก็จะเป็นอีกราคาหนึ่ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ก่อให้เกิดการทำลายระบบเศรษฐกิจอย่างมาก มันจะทำให้หน้าที่ของเงินหมดไป การแลกเปลี่ยนจะกลับมาสู่สิ่งของแลกสิ่งของแทน ประเทศที่ประสบปัญหานี้ คือ เยอรมันและอินโดนีเซีย

สาเหตุของเงินเฟ้อ (The Causes of Inflation)

  1. ดีมานด์เกิน (Demand Pull Inflation) เป็นปัญหาด้านดีมานด์ของสินค้า
  2. ต้นทุนเพิ่ม (Cost - Push Inflation) เป็นปัญหาด้านซัพพลายของสินค้า
  3. สาเหตุอื่นๆ
1.) ดีมานด์เกิน (Demand Pull Inflation) เงินเฟ้อเพราะดีมานด์เกิน ทฤษฎีเงินเฟ้อดั้งเดิมอธิบายสาเหตุของเงินเฟ้อว่า เกิดจากการที่ดีมานด์มวลรวม มีมากกว่าซัพพลายมวลรวม ณ ระดับราคาสินค้าที่เป็นอยู่ขณะนั้น ผลทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ถ้าเราเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น แต่ไม่ให้ระดับการจ้างงานเพิ่มขึ้นตาม นั่นคือ ผลผลิตจะสามารถเพิ่มขึ้นโดยต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยยังคงเดิม ดังนั้น การที่ดีมานด์มวลรวมเพิ่มขึ้นในขณะที่การผลิตขณะนั้นอยู่ไกลการมีงานทำเต็มที่ เงินเฟ้อจะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าดีมานด์มวลรวมเพิ่มในขณะที่การผลิตอยู่ ณ ระดับการมีงานทำเต็มที่ ทำให้ราคาเพิ่มโดยที่ผลผลิตไม่เพิ่มตาม เคนส์เรียกเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจมีการจ้างงานเต็มที่แล้วว่า "เงินเฟ้อแท้จริง" (True Inflation)
2.) ต้นทุนเพิ่ม (Cost - Push Inflation) มีสาเหตุมาจากด้านซัพพลาย เมื่อต้นทุนเพิ่ม จะทำให้ซัพพลายลดลง ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ถ้าดีมานด์มีค่าคงที่ ผลผลิตจะลดลง แบ่งแยกออกเป็น 2 ประเภท คือ
  • เงินเฟ้อเพราะค่าจ้างเพิ่ม (Wage - Pash Inflation) เกิดจากการขึ้นสูงของค่าจ้าง โดยดีมานด์ของแรงงานมิได้มีมากกว่าซัพพลาย ของแรงงานขณะนั้น ซึ่งเป็นไปได้ แต่ในทางเศรษฐกิจที่ทั้งตลาดแรงงานและตลาดผลผลิตมีการแข่งขันไม่สมบูรณ์เท่านั้น เพราะโดยปกติแล้วตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์ การขึ้นค่าจ้างและราคาสินค้าจะเป็นไปโดยกลไกของตลาดอย่างเดียวเท่านั้น การแก้ปัญหาเงินเฟ้อในลักษณะนี้ค่อนข้างยาก มาตรการที่ได้ผล ควรจะเป็นมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมค่าจ้างโดยตรง ในยามที่เกิดภาวะการณ์เช่นนี้รัฐบาลจำเป็นต้องตัดสินใจเลือกเอาระหว่างการที่จะให้ระดับราคาสินค้ามีเสถียรภาพ แต่ทำให้มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น หรือการว่างงานน้อยลงแต่ระดับราคาสินค้าสูงขึ้น
  • เงินเฟ้อเพราะกำไรเพิ่ม (Prafit - Push Inflation) เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทางด้านซัพพลายหรือต้นทุนการผลิต เนื่องจากที่กล่าวมาแล้ว ข้างต้นว่า ตลาดที่มีการแข่งขันที่สมบูรณ์ (Perfect Market) การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของราคาสินค้าหรือค่าจ้างจะเป็นไปโดยกลไกตลาด เพราะฉะนั้นปัญหาภาวะการณ์เช่นนี้เกิดเฉพาะตลาดที่มีการแข่งขันไม่สมบูรณ์เท่านั้น คือ ผู้ผลิตมีอำนาจที่จะกำหนดราคาสินค้าได้เอง
3.) เงินเฟ้อเพราะสาเหตุอื่น ๆ
  • โครงสร้างดีมานด์เปลี่ยนแปลง ( Bottleneck or Structural Inflation) เมื่อระบบเศรษฐกิจมีการพัฒนาขึ้น การบริโภคและโครงสร้าง จะมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว แต่โครงสร้างการผลิตยังไม่สามารถปรับตัวได้ทัน จึงทำให้เกิดดีมานด์ส่วนเกิน ( Excess Demand) ราคาสินค้าสูงขึ้น และทำให้สินค้าโดยทั่วไปสูงขึ้นด้วย แต่เงินเฟ้อประเภทนี้ไม่สามารถใช้การแก้ไขได้แบบเดียวกับ Demand Pull Inflation เพราะนอกจากจะ ไม่ทำให้ปัญหาเงินเฟ้อลดลงแล้วจะยังคงก่อให้เกิดปัญหาการว่างงานด้วย
  • เงินเฟ้อที่เกิดจากการติดต่อระหว่างประเทศ ( International Transmission of Inflation)
    1) ผ่านทางสินค้าออก คือ เมื่อตลาดต่างประเทศมีความต้องการที่จะซื้อผลิตภัณฑ์สินค้าจากประเทศไทยเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าที่จะส่งออกของไทย จึงสูงขึ้น ทำให้ความต้องการที่จะขายสินค้าภายในประเทศลดต่ำลง นั่นคือ ดีมานด์ที่ต้องการส่งออกมีมากทำให้ซัพพลายที่เหลืออยู่ในประเทศลดลง เช่น ราคาน้ำตาลทราย
    2) ผ่านทางสินค้าเข้า เช่น ไทยสั่งซื้อเป็นสินค้านำเข้า เมื่อน้ำมันของตลาดโลกสูงขึ้น ราคาผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการต่าง ๆ ที่ใช้น้ำมันเหล่านี้เป็นส่วนประกอบก็จะพลอยสูงขึ้นตาม

ผลกระทบของเงินเฟ้อ

เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นในระบบ ระบบเศรษฐกิจย่อมเกิดผลกระทบต่างๆ ดังนี้
  • อำนาจซื้อของเงิน เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ ระดับราคาสินค้าจะสูงขึ้น อำนาจซื้อของเงินแต่ละหน่วยลดลง ประชาชนจึงรีบใช้จ่ายเงินในการซื้อสินค้า และบริการต่างๆ ส่งผลทำให้อุปสงค์รวมเพิ่มขึ้นและทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงขึ้นไปอีก
  • การออมและการลงทุน ในระยะที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ ประชาชนมักจะรีบเร่งใช้จ่ายเงิน ส่งผลให้เงินออมและการลงทุนของประเทศลดลงด้วย
    การกระจายรายได้ เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อจะทำเกิดการเปลี่ยนแปลงในการกระจายรายได้ บุคคลกลุ่มที่มีฐานะดีและอำนาจการต่อรองสูง จะได้รับประโยชน์ ในขณะที่บุคคลกลุ่มที่มีฐานะยากจนและขาดอำนาจการต่อรองต้องเสียประโยชน์ ผลของภาวะเงินเฟ้อ จึงทำให้คนรวยยิ่งรวยขึ้น และคนจนยิ่งจนมากขึ้น
  • การค้าต่างประเทศ ภาวะเงินเฟ้อก่อให้เกิดผลกระทบแก่การส่งออกและการนำเข้า ด้านการส่งออก ปริมาณการส่งออกจะลดลงเนื่องจาก ราคาสินค้าที่สูงขึ้นทำให้ส่งออกไปได้น้อยลง ด้านการนำเข้าการที่ราคาสินค้าในประเทศสูงขึ้นกระตุ้นให้มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น 
  • การเมือง การที่ระดับราคาสูงขึ้นจะมีผลทำให้ค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มขึ้น บุคคลจึงพยายามที่จะปรับปรุงรายได้ให้สูงขึ้น การกระจายรายได้ยิ่งเหลื่อมล้ำคนที่มีรายได้น้อยยิ่งจนลง ถ้ารัฐบาลไม่สามารถลดภาวะเงินเฟ้อเพื่อชะลอการเพิ่มขึ้นของระดับราคาได้แล้ว จะเกิดความไม่พอใจในประสิทธิภาพการทำงานส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้

การแก้ปัญหาเงินเฟ้อ

ทำได้โดยใช้นโยบายการเงินและนโยบายคลังซึ่งเป็นนโยบายหลักในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ดังนี้
  • ด้านนโยบายการเงิน ธนาคารกลางอาจใช้มาตรการทางการเงินเพื่อลดปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ มีผลให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น การใช้จ่ายรวมและการลงทุนของประเทศลดลง หรืออาจใช้วิธีควบคุมการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ การปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะจูงใจให้ประชาชนลดการบริโภคและเพิ่มการออม ทำให้อุปสงค์รวมลดลง
  • ด้านนโยบายการคลัง รัฐบาลจะลดการใช้จ่ายโดยเฉพาะรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เพิ่มอัตราภาษีเงินได้ เพื่อให้รายได้ที่พ้นจากภาษีเพิ่มขึ้นจะเป็นการดึงเงินจากระบบเศรษฐกิจมาเก็บไว้ การบริโภคของประชาชนจะลดลง ในช่วงที่เกิดภาวะเงินเฟ้องบประมาณฯ ควรเป็นแบบขาดดุลน้อยลงหรือเกินดุลมากขึ้น

ความคิดเห็น

เรื่องราวที่น่าสนใจ