อะไรทำร้ายพอร์ตการลงทุนของคุณ?


อคติในการลงทุนและผลลัพธ์

อคติ ก็คือ ความลำเอียง ดังนั้น อคติในการลงทุนก็คือ "ความลำเอียงในการลงทุน" และเจ้าอคตินี่มันก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการลงทุนของนักลงทุน โดยทำให้การตัดสินใจในการลงทุนเป็นแบบไม่ตรงไปตรงมา เพราะว่า "ฉันรู้สึกแบบนี้ และฉันคิดว่ามันจะต้องเป็นแบบนี้" สุดท้ายผลจากการตัดสินใจต่างๆเหล่านั้น ก็จะย้อนกลับมาที่พอร์ตการลงทุนของเราเอง ซึ่ง ผลกระทบที่ว่านี้ มักจะส่งผลร้ายมากกว่าผลดีซะเป็นส่วนใหญ่ คุณว่าจริงมั้ย?
ทีนี้เราลองมาดูว่า อคติในการลงทุนที่ว่านี้มันมีอยู่กี่แบบ และลองเช็คตัวคุณเองว่า คุณมีอคติแบบไหนอยู่บ้าง

1. Loss Aversion คือ ความเกลียดชังการสูญเสีย นั่นคือ การที่เราต้องการที่จะหลีกเลี่ยงความสูญเสีย และแสวงหากำไร ในการศึกษาบางอย่างชี้ให้เห็นว่า การสูญเสียนั้นมีพลังเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับการทำกำไร ผลของมันก็คือ เมื่อเรากลัวที่จะสูญเสีย เราก็จะให้ความสำคัญกับการขาดทุนมากมากกว่าการหากำไร (ก็ฉันไม่อยากเสียเงินนี้ไป) ตัวอย่างเช่น ถ้ากำไร 10 บาท กับ ขาดทุน 10 บาท ก็มีผลเท่ากัน แต่คนจะกลัวขาดทุน 10 บาทมากกว่ากลัวไม่ได้กำไร 10 บาท (แน่นอนบางคนอาจจะกลัวขาดทุนแค่ 5 บาท เมื่อเทียบกับโอกาสกำไร 15 บาท)

2. Risk Aversion คือ ความเกลียดชังความเสี่ยง เจ้าสิ่งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากเจ้า Loss Aversion ซึ่งแน่นอน เมื่อคนเกิดความกลัวที่จะเสียเงิน ก็ต้องกลัวความเสี่ยงเป็นธรรมดา Risk Aversion เกิดขึ้นในภาวะที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ก็จะพยายามลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอน เป็นถาวะที่นักลงทุนเต็มใจที่จะยอมรับผลตอบแทนที่ไม่แน่นนอน หรือน้อยกว่าแต่ปลอดภัยกว่า ดีกว่าจะยอมเสี่ยงกับการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า แต่อาจจะต่ำกว่าที่คาดไว้ และมีความเสี่ยง ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยง อาจนำเงินลงทุนไปฝากธนาคารเพื่อกินดอกเบี้ยเงินฝากที่ให้ค่าตอบแทนต่ำแต่ปลอดภัย แทนที่จะนำมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนสูงกว่า แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนได้ เป็นต้น (ตัวอย่างที่เราเห็นได้ในปัจจุบันที่ตลาดถูกครอบงำด้วย Risk Aversion คือ ตลาดหุ้นตกกันทั่วโลก เพราะนักลงทุน แห่กันเทขายหนีความเสี่ยงออกจากตลาด)

3. Sunk cost effect นั่นคือ ผลกระทบจากการยึดติดกับเงินที่ลงทุนไปแล้ว มากกว่าเงินที่จะต้องเสียในอนาคต และสุดท้ายก็ส่งผลกระทบกลับมาที่นักลงทุน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อนักลงทุนดูกราฟ EUR/USD แล้วคาดว่ามันจะลง ก็เซลไว้ แต่ราคาก็ไม่ลดลง แต่กลับขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงแนวต้านอีกแนวนึงก็เซลเพิ่มไปอีกแทนที่จะตัดขาดทุนตั้งแต่ที่รู้ว่าตัดสินใจผิดครั้งแรกยอมขาดทุนน้อยๆ แต่กลับยอมให้พอร์ตขาดทุนเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้น เพราะ "เสียดาย" เงินที่ลงทุนไปแล้ว ไม่อยากเสียเงินทุนแม้จะรู้ว่าตนเองตัดสินใจผิดพลาด นักลงทุนที่อยู่ในภาวะนี้มักชอบ "หลอกตัวเอง"  ว่า เดี๋ยวมันจะต้องเป็นไปตามที่ฉันคิดแน่ๆ และผลสุดท้ายความเสียหายก็มากขึ้น บางทีอาจเลวร้ายขนาด ล้างพอร์ตกันเลยก็เห็นอยู่บ่อยสำหรับตลาด Forex

4. Disposition effect  คือ ผลกระทบจากการจัดการของนักลงทุน ที่มักจะตัดสินใจปิดออเดอร์ซื้อขายเมื่อมีกำไรแล้ว แต่จะไม่ยอมปิดเมื่อยังขาดทุนอยู่ รู้ว่าถือไว้แล้วมันติดลบ แต่ก็ถือไปเรื่อยๆ (ฉันจะรอวันฟ้าเป็นใจ ได้กำไรแล้วค่อยปิด) นักลงทุนที่จะทำแบบนี้ได้ จะต้องอึดทั้งพอร์ตอึดทั้งคน ถ้าคุณไม่อึดพอไม่มีการวางแผนรองรับที่ดีก็จงอย่าทนถือออเดอร์ติดลบนานๆเลยจะดีกว่า

5. Outcome bias หมายถึง อคติที่เรามีแนวโน้มที่จะตัดสินอะไรจากผลที่ออกมามากกว่า ตัดสินใจจากเหตุผลที่มีอยู่ เช่น เราเทรดตามการวิเคราะห์จากเหตุผลของราคาอาจจะทั้งทางเทคนิคอล หรือดูจากพื้นฐานด้วยก็ตาม การเทรดของเราก็ทำกำไรได้เรื่อยๆ แต่ไม่ได้มากมายเป็นก้อนใหญ่ วันหนึ่ง มี "พลายกระซิบ" มาบอกว่าคู่เงินนั้นจะเป็นแบบนี้นะ ให้ตาม เราทำตามและได้กำไรมหาศาล และเมื่อเราทำตามไปซัก 2-3 ครั้ง เราก็มีแนวโน้มที่จะเริ่มไม่เชื่อการวิเคราะห์ที่ถูกต้องของตนเอง แต่หันไปเล่นหุ้นพรายกระซิบแทน ผลที่ตามมาก็คือ ระเบียบวินัยการลงทุนของเราก็จะหายไป และเมื่อไหร่ พลายกระซิบนี้เริ่มทำงานไม่ดี เราก็จะไปตามหา พลายกระซิบใหม่ไปเรื่อยๆ

7. Recency bias คือ คนเรามีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องที่เกิดขึ้นล่าสุด มากกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนหน้า เช่น การขาดทุนที่เพิ่งเกิดวันนี้ ทำให้เราเจ็บปวดมากกว่าการขาดทุนที่เกิดขึ้นปีก่อน แม้ว่าความเสียหายจาการขาดทุนในวันนี้จะเทียบไม่ได้เลยกับเมื่อปีก่อนก็ตาม

8. Anchoring  อันนี้สำคัญทีเดียว คือ แนวโน้มที่บอกว่าเรามีแนวโน้มที่จะเชื่อในข้อมูลที่มีอยู่ให้เห็นตรงหน้า มากกว่าข้อมูลที่เราไม่เห็น ซึ่งอาจทำให้เราประเมินภาพผิดไปจากความจริงมากมาย เพราะทำให้เราเชื่อมั่นเกินเหตุกับข้อมูลที่มีอยู่ (อาจจะแค่ 30% ก็ได้ แต่เราไม่รู้ว่ายังมีข้อมูลอีก 70% ที่อาจทำให้เราต้องไปคิดใหม่เลยทีเดียว) อย่าง เช่น การดูข่าวในตลาด Forex ทุกวันนี้  เมื่อเวลามีการประกาศตัวเลขดัชนีต่างๆ เราเห็นตัวเลขดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจออกมาดี ค่าเงินสกุลนั้นจากที่อ่อนแอ ก็พุ่งพรวดไปชั่วครู่ แล้วร่วงลงมาตามเดิม ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า แม้ว่าดัชนีตัวนี้จะดีแต่ก็ยังคงเป็นแค่ส่วนเดียวของเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีตัวนี้ดี แต่ตัวอื่นๆส่วนใหญ่อาจจะย่ำแย่อยู่ก็ได้ ถ้าเศรษฐกิจจะดีจริง ดัชนีโดยรวมส่วนใหญ่ควรออกมามีความสอดคล้องกันไปในทิศทางที่ดีด้วย

9. Bandwagon effect  หมายถึง แนวโน้มที่เราจะคล้อยตามคนหมู่มาก ซึ่งอาจจะไม่ต้องถูกเสมอไป ดังนั้น การจะเชื่ออะไรก็ควรจะพิจารณาถึงเหตุผลด้วย ก่อนที่จะเชื่อตามคนอื่น เพราะการที่มีคนเชื่อแบบเดียวกันมากๆ ก็ใช่ว่าความคิดนั้นจะถูกเสมอไป

10. Belief in the law of small numbers คือ การที่ผู้คนใช้ข้อสรุปผิดๆ จากจำนวนตัวอย่างที่น้อยเกินกว่าที่จะมาทำข้อสรุปได้จริงๆ เช่น ในการเทรดคู่เงิน EUR/USD ถ้าเพื่อนเราที่เป็นเทรดเดอร์ด้วยกัน 10 คน มี 7 คนที่ซื้อ และ 3 คนที่ขาย ถ้าคนที่เทรดคู่เงิน EUR/USD มีเพียงแค่เราและเพื่อน 10 คนก็คงง่ายที่จะสรุปได้ว่า ราคา EUR เทียบ USD ต้องขึ้นแน่นอน เพราะคนต้องการซื้อมากกว่าคนต้องการขาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในตลาดมีผู้คนมากมายมหาศาลที่ซื้อขายคู่เงินนี้ ดังนั้น อย่าด่วนสรุปอะไรจากคนรอบตัวเราเพียงไม่กี่คน  

ที่นี้ลองทบทวนตัวเองดูว่าคุณเป็นนักลงทุนที่มีอคติแบบไหนอยู่บ้าง ควรจะแก้ไขตรงไหน ป้องกันอย่างไร เพื่อให้พอร์ตการลงทุนของคุณปลอดภัยจากอคติในใจของคุณเอง


ความรู้เพิ่มเติม

- บาปมหันต์ 7 ประการในการลงทุน

ความคิดเห็น

เรื่องราวที่น่าสนใจ