จาก 'เด็กแว้น&แม่ค้า' สู่ 'แชมป์ Super Trader'

พรชัย ตั้งจริยภรณ์,Trader,บิ๊ก พรชัย,เทรดเดอร์ซีซั่น1,เล่นหุ้น,สุดยอดเทรดเดอร์,biz week

ไม่จำเป็นต้องเก๋าเรื่องหุ้น ขอแค่เจอทางถนัด เท่านี้ ก็คว้าแชมป์ซุปเปอร์ เทรดเดอร์ได้ไม่ยาก 'พรชัย ตั้งจริยภรณ์ & ปิยมาศ รักขพันธ์' สองผู้ชนะ

'เล่นหุ้นไม่ถึงปี ก็คว้า 'สุดยอดซุปเปอร์ เทรดเดอร์ซีซั่น1' ได้' 
ใครจะเชื่อว่า 'บิ๊ก-พรชัย ตั้งจริยภรณ์' ชายหนุ่มวัย 25 ปี ในฐานะแชมป์ผู้พิชิตเงินรางวัล 1 ล้านบาท จะใช้เวลาเรียนรู้เรื่องการลงทุนเดย์เทรดเพียงไม่กี่เดือน ก่อนลงสนามแข่งขันโครงการ 'ค้นหาเทรดเดอร์มืออาชีพ'(Super Trader Thailand)
เบื้องหลังสุดยอดแห่งความสำเร็จในครั้งนี้ 'ผู้ชนะ' ยกความดีความชอบส่วนหนึ่งให้กับชายชื่อ 'เบียร์-วนนท์ วรรณป้าน' นักลงทุนรุ่นพี่ ผู้ชักชวนบิ๊กเข้าวงการเดย์เทรด ทว่า 'หนุ่มเบียร์' ไม่ได้เป็นเพียงกูรูคอยแนะนำเทคนิคการลงทุนเท่านั้น แต่ยังเป็นคนเข้ามาพลิกชีวิต 'หนุ่มบิ๊ก' จาก'เด็กแว้น' สู่ 'สุดยอดเทรดเดอร์' 
ก่อนโชคชะตาจะผกผันคว้าเงินล้าน วิถีชีวิตประจำวันของ'บิ๊ก' คือ ซิ่งรถมอเตอร์ไซค์กับแกงค์เด็กแว้น ทุกค่ำคืนเขาไม่เคยพลาดที่จะออกไปร่วมวง ด้วยความรักการบิดเป็นชีวิตจิตใจ ทำให้เขาเรียนจบเพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
ล่าสุดเพิ่งตัดสินใจลงสมัครเรียนคณะการตลาด มหาวิทยาลัยรามคำแหง หลังมีความตั้งใจอยากเป็นเจ้าของกิจการร้านอาหาร ออกแนวเชื้อไม่ทิ้งแถว เพราะพ่อเป็นเชฟอยู่ประเทศอังกฤษ ส่วนแม่ยึดอาชีพขายอาหาร
'หนุ่มบิ๊ก' ย้อนอดีตให้ 'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week' ฟังว่า สวมวิญญาณสิงห์นักบิดอยู่นานหลายปี สุดท้ายตัดสินใจเลิกซิ่ง หลังได้รับข่าวว่า เพื่อนแกงค์เด็กแว้นเสียชีวิตจากการขี่มอเตอร์ไซค์ในคืนวันหนึ่ง ตอนนั้นบอกกับตัวเองว่า เราคงต้องหางานทำ เพื่อทำให้พ่อกับแม่ภูมิใจ ซึ่งงานนั้นต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า 'ได้ขี่มอเตอร์ไซค์' 
บังเอิญได้ยินข่าวจากเพื่อนที่ทำงานอยู่ในร้าน Swensens ว่า สาขาเซ็นเตอร์วัน กำลังรับสมัครพนักงานส่งเค้กไอศกรีม ตอนนั้นไม่รอช้ารีบสมัครเข้าทำงาน รับค่าแรงชั่วโมงละ 27 บาท บวกค่าจัดส่งอีกรอบละ 30 บาท
ทำงานที่สาขานี้ได้ไม่นาน ในปี 2553 ห้างเกิดเหตุไฟไหม้ ทำให้ต้องย้ายไปประจำสาขาบิ๊กซี สะพานควาย ซึ่งสาขาแห่งนี้ทำให้ชีวิตของคนที่รักการบิดมอเตอร์ไซค์เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ช่วงนั้นมีโอกาสได้รู้จักกับผู้มีพระคุณ ซึ่งเขาทำงานเป็นผู้จัดการสาขา คือ 'เบียร์-วนนท์ วรรณป้าน' 
'ผมกล้าพูดตรงนี้ว่า ชีวิตดีขึ้น เพราะมีพี่คนนี้คอยช่วยเหลือทุกเรื่อง' 
หลังขับรถส่งเค้กได้ไม่นาน ได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นผู้ช่วยผู้จัดการร้าน สาขาโรบินสัน บางรัก รับเงินเดือน 15,000 บาท ก่อนจะถูกย้ายสาขาอีกครั้ง คราวนี้ไปประจำสาขามาบุญครอง จากนั้นไม่นานตัดสินใจลาออก ตามพี่เบียร์ที่ได้ลาออกไปก่อนหน้านี้ เพื่อไปทำงานในโรงงานเฟอร์นิเจอร์แห่งหนึ่ง ย่านลำลูกกา โดยแกได้โทรมาชักชวนให้ไปทำงานฝ่ายจัดซื้อในบริษัทเดียวกัน
ระหว่างที่ทำงานในโรงงานเฟอร์นิเจอร์รับเงินเดือนเพียงหนึ่งหมื่นบาท ทางบริษัทมีนโยบายเปิดให้พนักงานซื้อหุ้นของบริษัท โดยผู้ถือหุ้นจะได้รับเงินปันผลทุกๆ 3 เดือน ผมจึงตัดสินใจนำเงินเก็บ และยืมเงินแสน จากแม่มาซื้อหุ้น 3% ของบริษัท
ความรู้สึกที่ได้รับเงินปันผลก้อนแรก คือ 'ให้เงินทำงานมันดีอย่างนี้เอง' เชื่อหรือไม่ เงินปันผลที่ได้ทุกๆ 3 เดือน บวกเงินเดือน ทำให้ผมสามารถใช้เงินที่ยืมแม่มาได้หมดภายในระยะเวลา 1 ปี แถมยังมีเงินเหลือไว้ใช้ซื้อในสิ่งที่อยากได้อีกด้วย
'อดีตเด็กแว้น' เล่าต่อว่า ชีวิตผมเปลี่ยนอีกครั้ง ในช่วงปลายปี 2557 หลังตัดสินใจลาออกตามพี่เบียร์อีกครั้ง เพื่อออกมาเป็นนักลงทุนเดย์เทรด ถามว่า มีความรู้เรื่องหุ้นหรือไม่ ตอบเลย 'ไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ ตลาดหุ้นคืออะไร' แต่ก็ตัดสินใจเข้าสู่แวดวงนี้ เพราะ 'เชื่อใจ เชื่อมือ' พี่เบียร์ ตอนนั้นตัดสินใจเบิกเงินสด 1 แสนบาท มาร่วมลงขันกับพี่เบียร์ที่มีเงินสดติดพอร์ตอยู่แล้ว 2 แสนบาท
สำหรับหน้าที่หลักของผมในขณะนั้น คือ คีย์ข้อมูลสั่งซื้อสั่งขายตามคำสั่งของรุ่นพี่ ช่วงแรกของการลงทุน ถือว่า 'ได้กำไรจำนวนมาก' เรียกว่า ได้กำไรตามตลาดหุ้นที่อยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ผ่านไปสักระยะตลาดหุ้นเริ่มไซด์เวย์ ทำให้ได้กำไรไม่มากเหมือนก่อน
สุดท้ายเล่นหุ้นในพอร์ตของรุ่นพี่ได้เพียง 2-3 เดือน แกก็บอกให้ผมออกไปลงทุนด้วยตนเอง โดยเขาจะให้คำแนะนำ บังเอิญเป็นช่วงเดียวกับที่โครงการ ซุปเปอร์ เทรดเดอร์ ไทยแลนด์ เปิดรับสมัครนักลงทุนพอดี พี่เบียร์จึงชักชวนให้ลองไปแข่งขัน แท้จริงแล้ววัตถุประสงค์ในการเข้าร่วมโครงการนี้ คือ อยากได้ความรู้จากงานสัมมนาเท่านั้นเอง
กลยุทธ์ลงทุนใดทำให้กลายเป็นผู้ชนะ?เขาตอบว่า 'ก็อปปี้คนเก่ง' โมเดลนี้ดีที่สุด ตลอดเวลาที่ลงทุนกับพี่เบียร์ เขามักมีเทคนิคแปลกๆอยู่เสมอ ซึ่งผมก็นำมาปรับใช้กับการลงทุนส่วนตัว ซึ่งก็ได้ผลเกือบทุกครั้ง
ยกตัวอย่าง 'เทคนิคไม้ตกใจ' ถือเป็นไม้เด็ดก็ว่าได้ วิธีการลงทุนด้วยกลยุทธ์นี้ คือ เข้าซื้อในช่วงที่ราคาลงหนักๆ พูดง่ายๆ ซื้อสวนทางกับคนอื่น โดยเราจะจำกัดความเสี่ยง ด้วยการดูแนวรับ รวมถึงดู bid และ offer ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เรารู้ถึง 'จุดตัดขาดทุน' หรือ Cut loss
ที่ผ่านมารับได้กับการขาดทุน 3 ช่อง เราต้องคิดเสมอว่า 'ทุนสำคัญ หมดแล้วหาใหม่ได้ยาก' การลงทุนสำคัญตอนเข้าซื้อ คือ ซื้อให้ได้ต่ำที่สุด ส่วนจุดขายไม่สำคัญ ขายตรงไหนก็ได้ ขอให้ได้กำไร
'โมเดลนี้ แม้ได้กำไรแค่กว่า10% แต่ได้เร็วมาก' 
เขา เล่าต่อว่า ตอนแข่งขันได้ใช้ 'กลยุทธ์ไม้ตกใจ' กับหุ้นเกือบทุกตัว ซึ่งจะใช้มากในรอบสุดท้าย ยกตัวอย่าง หุ้นที่ได้กำไรสูงสุด คือ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของ บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ หรือ TTA-W5 ตอนนั้นภาวะตลาดหุ้นในช่วงเช้าปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงบ่ายตลาดหุ้นกลับหักหัวลง
เมื่อลองเข้าไปสำรวจหุ้นที่ติดลบสูงสุด พบว่า หุ้น TTA-W5 เป็นตัวที่ติดลบหนักถึง 20% จึงตัดสินใจใช้วิธีสอดรับข้างล่าง (ซื้อในราคาต่ำ) วิธีการดังกล่าวทำให้ได้กำไรกลับมาประมาณ 5% โดยได้แบ่งขาย 50% ในราคา 0.48 บาท ส่วนที่เหลือขายในราคา 0.49 บาท จากต้นทุน 0.40 บาท นอกจากนั้นยังนำวิธีดังกล่าวไปใช้กับหุ้น แฟนซีวู๊ด อินดัสตรีส FANCY แต่ได้กำไรกลับมาเล็กน้อยประมาณ 2%
สำหรับหุ้นที่เล่นด้วยวิธีนี้แล้วไม่เคยได้กำไรเลย คือ หุ้น บางกอก เดค-คอน หรือ BKD ,หุ้น บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ GENCO และหุ้น เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน หรือ WG แม้ขาดทุนไม่เยอะ แต่ขาดทุนบ่อย ไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะเหตุใด สำหรับหุ้นที่ทำให้ขาดทุนมากถึง 10% ในช่วงแข่งขัน คือ หุ้น สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย หรือ SMM เหตุผลเกิดจากความมั่นใจ และความดื้อจะเอาชนะ
'หุ้นประเภท ขึ้น ย่อ ไซด์บาร์ ผมชอบนะ วิธีการเข้าซื้อ คือ ช้อนเมื่อหุ้นกำลังหักหัวขึ้นอีกครั้ง หรือหุ้นประเภท ขึ้น แล้วย่อสั้นๆ ลักษณะนี้ก็น่าลงทุน ซึ่งวิธีการลงทุนแบบนี้จะได้กำไรประมาณ 5-10% โดยต้องถือไม่เกิน 2 วัน' 
'หนุ่มนักลงทุน' บอกว่า สำหรับผลการแข่งขันในรอบแรก 3 เดือน ทำกำไรได้ 3.8 หมื่นบาท หรือเติบโต 38% รอบน็อคเอาท์ 5-6 สัปดาห์ ได้กำไร 1.1 หมื่นบาท หรือขยายตัว 11% รอบทีม 5 สัปดาห์ ขาดทุน 2% และรอบ 6 คนสุดท้าย 3 วัน ได้กำไร 1 หมื่นบาท โต 10% รวมกำไร 5 หมื่นบาท จากทุน 1 แสนบาท
การแข่งขันครั้งนั้น ทำให้เราสามารถนำความรู้ที่ได้จากการเข้าฟังงานสัมมนามาปรับใช้กับการเทรดได้จริง โดยเงินรางวัล 1 ล้านบาท ที่ได้จากการคว้าแชมป์ครั้งนี้ ตั้งใจจะนำเงินจำนวน 70% ไปลงทุนต่อ ปัจจุบันพอร์ตขยายตัวเพียงเล็กน้อย โดยเน้นกลยุทธ์เดย์เทรด แต่หากอนาคตพอร์ตขยายตัวมากกว่า 1 ล้านบาท ตั้งใจจะนำส่วนเกินจากหนึ่งล้านไปใช้ลงทุนระยะยาว
'อยากเห็นพอร์ตเติบโตเฉลี่ยวันละ2% และก่อนอายุ 30 ปี ตั้งใจจะมีพอร์ตหลักสิบล้าน เพียงแค่นี้ก็ดีใจมากแล้ว' 
'หนุ่มบิ๊ก' ทิ้งท้ายว่า วันนี้ผมสามารถหาทางเดินของตัวเองเจอแล้ว ฉะนั้นตั้งใจจะยึดอาชีพเดย์เทรดไปเรื่อยๆ แน่นอนว่า ช่วงแรกๆ ครอบครัวอาจไม่สนับสนุน แต่หากแสดงให้เขาเห็นว่า เรามีระเบียบวินัยในการลงทุน อย่างน้อยหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เราคงไม่หมดตัว ปัจจุบันผมยังไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นยังคงต้องออกไปตามหาความรู้เพิ่มเติม เพราะตอนนี้ยังมีความรู้เล็กน้อยเท่านั้น
'หุ้นซิ่งไม่อิง SET โมเดลลงทุนรองแชมป์'
'แป้น-ปิยมาศ รักขพันธ์' สาวชาวใต้อายุ 38 ปี ผู้คว้าอันดับสอง 'ซุปเปอร์ เทรดเดอร์' เธอเกิดและเติบโตในอำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายส่งเครื่องสำอาง ซึ่งทำมาแล้ว 8 ปี หลังเข้าไปเรียนรู้งานในตำแหน่งพนักงานขายเครื่องสำอางในบริษัทแห่งหนึ่งนาน 5 ปี ถือเป็นงานแรก หลังจบการศึกษา คณะการตลาด มหาวิทยาลัยรามคำแหง
'รองแชมป์' เล่าว่า ในอดีตครอบครัวเคยตกอยู่ในผู้มีฐานะยากจน แต่ทุกวันนี้ก็สามารถเป็นเจ้าของพอร์ตหุ้น 20 ล้านบาท และเป็นเจ้าของสวนปาล์ม สวนยาง อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง จำนวน 70 ไร่ได้ ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ด้วยสองมือของตัวเอง เพราะสินทรัพย์ที่พ่อแม่ให้มามีเพียงที่ดิน 1 งา เท่านั้น ฉะนั้นสำหรับใครที่กำลังสร้างตัว จงจำไว้ว่า
'คนเราต้องมีสองอาชีพ เราไม่สามารถฝากชีวิตไว้กับอาชีพเดียวได้ เพราะไม่อาจรู้ได้ว่า อนาคตอาชีพเดียวที่มีอยู่จะทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนหรือไม่'
'หญิงชาวใต้' เริ่มเข้าสู่วงการหุ้นเมื่อปี 2556 หลังเพื่อนที่ทำงานอยู่แบงก์แห่งหนึ่งแนะนำว่า ควรนำเงินเก็บที่มีอยู่ไปต่อยอดความรวย ด้วยการลงทุนในตลาดหุ้น เมื่อสิ้นสุดคำแนะนำเธอตัดสินใจเปิดทิ้งไว้ 6 เดือน ช่วงนั้นเดินสายหาความรู้ ด้วยการซื้อหนังสือเกี่ยวกับตลาดหุ้นมาอ่านหลายสิบเล่ม ผลของการอ่าน คือ ไม่รู้เรื่อง สุดท้ายใช้เวลา 2-3 เดือนในการปรับ Mindset จากนั้นตัดสินใจลงสนามจริง โดยมีมาร์เก็ตติ้งเป็นเพื่อนคู่คิด
แรกเริ่มของการลงทุน คือ ซื้อหุ้นตามข่าว เพราะตั้งใจจะเป็นนักลงทุนแนววีไอ แต่เนื่องจากเล่นหุ้นแบบ VI มันไม่สนุก และไม่ตื่นเต้น ทำให้เปลี่ยนมาเล่นแบบเดย์เทรด ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่โครงการ ซุปเปอร์ เทรดเดอร์ เปิดรับสมัครนักลงทุนพอดี
'เล่นหุ้นแนว VI มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ หรือ NAV ต่อวัน คงบวกครั้งละมากๆไม่ได้ แต่แนวเดย์เทรดสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเล่นหุ้นด้วยท่าไหนก็ตาม' 
เธอ เล่าว่า ช่วงครึ่งปีแรกที่เล่นตามคำแนะนำของมาร์เก็ตติ้ง ถือว่าได้กำไรเหมือนกัน เพราะตลาดหุ้นอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ช่วงหุ้นตกจาก 1,600 จุด 1,200 จุด ก็ขาดทุนเฉลี่ย 18% ช่วงนั้นถือคติ 'ไม่ขายไม่ขาดทุน แต่โชคดีหุ้นดีดกลับมา'
เชื่อหรือไม่!! เมื่อก่อนมีหุ้นอยู่ในมือเป็น 'ร้อยตัว' กลยุทธ์การลงทุน คือ ตัวไหนเขียวก็ขาย ตัวไหนแดงก็ถือไว้ก่อน ซึ่งเป็นหลักการที่ผิดมาก ปัจจุบันทยอยคัดหุ้นทิ้งไปบ้างแล้ว ตอนนี้มีหุ้นอยู่ในมือประมาณ 60-70 ตัว หลายคนถามว่า ดูหมดหรอ (หัวเราะ)
สำหรับวิธีการสำคัญในการคัดหุ้นเข้าพอร์ต คือ 1.หุ้นตัวนั้นต้องมีสตอรี่ ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยสนใจ 2.ดูโปรแกรมกราฟ BIZNEWS โดยจะสำรวจว่า หุ้นตัวนั้นเป็นเทรนด์ขาขึ้น และมีวอลุ่มเข้ามาสะสมหรือไม่ และราคาหุ้นเริ่มสวยแล้วหรือยัง ส่วนใหญ่จะเข้าซื้อช่วงที่หุ้นเริ่มเขียว 1-2 แท่ง ซึ่งจะไม่รอหุ้นเบรก เพราะบางครั้งชอบเบรกหลอก
'เล่นหุ้นทุกวัน เล่นหุ้นหลากหลายตัว เราจะรู้พฤติกรรมของหุ้นตัวนั้น ซึ่งจะทำให้รู้ว่า เราต้องทำอย่างไรกับหุ้นตัวนี้ ล่าสุดกำลังสนใจการลงทุนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrants) เพราะสามารถทำกำไรได้ทั้งขาขึ้นและขาลง ซึ่งตลาดหุ้นไซด์เวย์เช่นนี้ การลงทุนลักษณะนี้น่าจะตอบโจทย์'
'แป้น' เล่าว่า สำหรับผลการแข่งขันโครงการ ซุปเปอร์ เทรดเดอร์ ในรอบแรก 3 เดือน ได้กำไร 5 หมื่นบาท หรือเติบโต 50% รอบน็อกเอาท์ 5-6 สัปดาห์ ได้กำไร 3 หมื่นบาท หรือขยายตัว 30% รอบทีม 5 สัปาดห์ ขาดทุน 8 พันบาท และรอบ 6 คนสุดท้าย 3 วัน ขาดทุน 5 พันบาท รวมกำไรกว่า 6 หมื่นบาท จากทุน 1 แสนบาท
แนวทางการเล่นหุ้นของแชมป์และรองแชมป์ค่อนข้างแตกต่างกัน โดย 'แป้น' จะเน้นการลงทุนหุ้นซิ่งไม่อิง SET ออกแนวเข้าเร็วออกเร็ว และชอบเล่นหุ้นแปลก โดยเฉพาะหุ้นที่มี bid และ offer น้อยๆ ซึ่งหุ้นลักษณะนี้ราคาจะไปได้ไกล 7-8% โดยไม่มีที่มาที่ไป ส่วนใหญ่เป็นหุ้นนอกสายตา
'ส่วนตัวจะไม่ลงทุนในหุ้นตัวแดง แต่จะเล่นหุ้นที่ออกวิ่งไปแล้ว3-5% หากเล่นไปสักพักแล้วไม่ขึ้นจะโยนทิ้งอย่างรวดเร็ว เพื่อหาตัวเล่นใหม่ต่อไป หรือหากขายทิ้งแล้วหุ้นตัวเดิมวิ่งก็จะกลับเข้าไปเล่นใหม่อีกรอบ หากหุ้นตัวนั้นเข้าหลักการลงทุน' 
สำหรับหุ้นที่ทำกำไรสูงสุดในช่วงของการแข่งขัน คือ หุ้น บิวเดอสมาร์ท หรือ BSM หุ้น บางปะกง เทอร์มินอล หรือ BTC,หุ้น เอื้อวิทยา หรือ UWC ,ใบสำคัญแสดงสิทธิจะซื้อหุ้นสามัญของบมจ.หุ้น กรุ๊ปลีส หรือ GL-W3 และหุ้น กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง หรือ GUNKU
โดยหุ้น GUNKU ถือเป็นตัวที่ลงทุนนานที่สุดประมาณ 10 เดือน โดยได้กำไรมาประมาณ 250% หุ้นตัวนี้พื้นฐานดี ทำให้เข้าด้วยสตอรี่ ซื้อมาตั้งแต่ราคา 11 บาท และขายออกบางส่วนตอนราคา 25 บาท ส่วนใหญ่ไม่มีเป้าหมายการทำกำไร พอใจราคาไหนก็ออก
ส่วนการวางเงินลงทุนจะนิยมเคาะครั้งละแสนหุ้น สำหรับหุ้นที่ราคาไม่เกิน 2 บาท แต่หากราคาต่ำกว่านั้นจะเคาะซื้อครั้งละสองแสนถึงห้าแสนหุ้น ส่วนระยะเวลาการถือครอง ด้วยความเป็นหุ้นซิ่ง ถือนานไม่ค่อยได้ (หัวเราะ)
สำหรับหุ้นที่ทำให้เจ็บตัวหนัก คือ ใบสำคัญแสดงสิทธิใกล้หมดอายุ ยิ่งตลาดหุ้นขาลง วอร์แรนต์จะเปราะบางมาก ช่วงแข่งขันเคยซื้อใบสำคัญแสดงสิทธิจะซื้อหุ้นสามัญของบมจ.ไรมอน แลนด์หรือ RML-W3 ตอนนั้นขาดทุนจากหุ้นตัวเดียวมากถึง 6 หมื่นบาท ไม่ได้อะไรกลับมาสักบาท 
บทเรียนครานั้นทำให้ตัวเองกลับมานั่งทบทวนว่า บางครั้งอาจต้องยอมตัดใจขายขาดทุน เมื่อทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทุกวันนี้พยายามทำอยู่ เพราะอย่างน้อยก็ยังเหลือตังค์ วันนี้ยอมรับขาดทุนได้ 5%
ในอนาคตอาจปรับพอร์ตลงทุนใหม่ โดยจะแบ่งพอร์ตออกเป็นอย่างละครึ่ง คือ เดย์เทรด และถือยาว ไม่ว่าสัดส่วนพอร์ตจะมีหน้าตาเช่นไร ในวันนี้เราต้องศึกษาเพิ่ม หากต้องการชนะตลาด เราต้องลองผิดลองถูกจนกว่าจะเจอทางของตัวเอง วันนี้ก็ยังคงคิดเช่นนั้นอยู่ เพราะยังลองผลิตภัณฑ์ทางการเงินไม่ครบ ในอนาคตอยากเห็นพอรต์ลงทุนยืน 'หลักร้อยล้าน'
'เมื่อปีก่อน วันเดียวเราสามารถทำกำไรหลักแสน จากหุ้นตัวเดียวได้ง่ายๆ แต่วันนี้หากำไรวันละหมื่นยังยาก ตลาดหุ้นตอนนี้เล่นยากจริงๆ' สองแชมป์ประสานเสียง ปิดท้ายบทสนทนา

Credit:http:www.bangkokbiznews.com

ความคิดเห็น

เรื่องราวที่น่าสนใจ