การปรับขนาดการซื้อขาย - ทำอย่างไร?ให้ขาดทุนน้อยที่สุด!!

 
การปรับขนาดการซื้อขาย
ในบทความก่อนๆ เราได้กล่าวถึงการการคำนวณขนาด Lot size และการตั้ง Stop loss กันแล้ว ในบทความนี้เราจะกล่าวถึง"การปรับขนาดการซื้อขาย" ในระหว่างที่คุณถือออเดอร์อยู่ ซึ่งจะช่วยให้คุณจัดการกับความเสี่ยง และปกป้องผลกำไรได้โดยการ "ปรับ" เพิ่ม หรือ ลด ขนาดของออเดอร์ที่คุณถืออยู่

เทคนิคนี้สามารถนำไปปรับใช้กับแผนการเทรดเดิมที่คุณมีอยู่ และสำหรับเทรดเดอร์ที่มีประสบการณ์มากพอสมควรแล้ว ถ้าเกิดว่าเงื่อนไขในการเทรดของคุณเปลี่ยนไปจากเดิมที่คาดไว้ คุณสามารถที่จะลด หรือเพิ่มขนาด Lot size ของคุณได้กลางคัน ไม่จำเป็นต้องรอให้ราคาวิ่งไปชนจุด TP หรือ SL

การปรับขนาดการซื้อขายนี้สามารถช่วยให้คุณปรับความเสี่ยง และล็อคกำไร รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการทำกำไรของคุณ และแน่นอนว่าเมื่อคุณเพิ่มหรือลดปริมาณการซื้อขายเดิมที่มีอยู่มันก็มีข้อเสียที่ต้องตระหนักถึงเช่นกัน และในบทนี้เราจะบอกคุณถึงข้อดีและข้อเสียที่ต้องระวังในการปรับขนาดการซื้อขาย รวมถึงบอกถึงวิธีการปรับขนาดการซื้อขายที่ถูกต้อง เพื่อคุณจะได้ไม่ต้องเทรดแบบบ้าพลังจนเสี่ยงเกินไปโดยไม่รู้ตัวจนทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าผลกำไร

ประโยชน์ที่ได้รับ
ประโยชน์ที่ได้รับสูงสุดอย่างแรกคือด้านจิตใจ เพราะการปรับขนาดการซื้อขายจะทำให้คุณไม่ยึดติดอยู่กับจุดเข้า-ออก ที่สมบูรณ์แบบ ในความเป็นจริง ไม่มีใครสามารถทำนายการเคลื่อนไหวของราคา หรือแม้แต่บอกตำแหน่งของจุดกลับตัวของราคาได้อย่างแน่นอน (เราทำได้แค่คาดการณ์ และรอดู) จึงเป็นเรื่องยากมากที่จะหวังว่าเราจะเปิดออเดอร์ได้ในตำแหน่งที่ดีที่สุดทุกครั้งไป และยิ่งคุณคาดหวังอย่างนั้นมากเท่าไหร่เวลาที่โดนราคาลากไปคุณก็เจ็บหนักมากเช่นกัน (การเปิดออเดอร์ได้สวยสุดไม่ได้หมายถึงเซฟสุด บ่อยครั้งที่คุณคุณคิดว่าเซลสูงแล้ว แต่ราคาก็ลากขึ้นไปสูงกว่าเดิมได้ หรือเปิดต่ำสุดๆแล้ว แต่มันมีต่ำกว่าได้อีก จริงมั้ย?)
สิ่งที่เราสามารถทำได้ดีที่สุดคือ การระบุ "พื้นที่" หรือ โซน แนวรับแนวต้านที่มีนัยสำคัญที่มีราคามีแนวโน้มว่าจะกลับตัวตามโซนนั้นๆได้ หรือถ้าเกิดการ Breakout ทะลุโซนไปได้ หรือราคามีพฤติกรรมอื่นๆ ในโซนต่างๆเหล่านั้น คุณก็รู้ว่าควรทำอย่างไร คุณสามารถเปิดออเดอร์ใหม่ หรือเปิดออเดอร์เพิ่มในระดับที่ต่างกัน และตั้งล็อคผลกำไรที่ได้มาแล้วจากการเปิดออเดอร์ครั้งก่อนในโซนที่ต่างกันเพื่อรักษาผลกำไร
มันจะช่วยให้ด้านจิตใจได้มาก หากว่าในการเทรดแต่ละครั้งไม่ได้มีการระบุแน่นอนว่าจะต้องเข้า และ ออก จากตลาดตรงไหน นอกจากนี้คุณไม่จำเป็นต้องมีความแม่นยำมากมายนักหนาในการที่จะทำกำไร นอกจากนั้นยังทำให้คุณสามารถลดความเสี่ยงได้
การล็อคผลกำไรที่ถูกต้องก็คือ การตั้ง Trailing stop (บางคนอาจจะตั้ง SL+ ไล่ไปตามแนวรับแนวต้าน) การปรับลดขนาดของออเดอร์ที่ได้กำไรแล้ว สามารถช่วยปกป้องผลกำไรของคุณได้ในกรณีที่ราคาวิ่งสวนทางกับออเดอร์ที่คุณเปิดไว้ (ก็คุณเก็บกำไรบางส่วนไปแล้ว ขนาดออเดอร์ก็ลดลดความเสี่ยงที่เหลือก็ลดลงด้วย)
และในกรณีที่คุณเปิดออเดอร์เพิ่มขึ้นในทิศทางเดิมและตลาดยังคงไปต่อ คุณก็ได้กำไรมากขึ้นกว่าเดิมเพราะ ขนาด Lot size ที่มากขึ้นจะทำให้คุณได้กำไรที่ได้จากแต่ละ pip เพิ่มมากขึ้นด้วย

ข้อเสีย
อุปสรรคสำคัญในการปรับขนาดการซื้อขาย คือ เมื่อคุณเปิดออเดอร์เพิ่มในทิศทางเดิม คุณก็ได้เพิ่มความเสี่ยงโดยรวมมากขึ้นด้วย จงจำไว้ให้ขึ้นใจว่าเทรดเดอร์คือ "ผู้จัดการความเสี่ยง" และถ้าคุณทำไม่ถูกต้อง "การปรับเพิ่ม" ขนาดการซื้อขายก็อาจทำให้คุณเสียหายหนักได้เช่นกัน (เราจะอธิบายการปรับเพิ่มการซื้อขายที่ปลอดภัยต่อไป)
ข้อเสียที่สองคือ เมื่อคุณปรับลดขนาดการซื้อขายของคุณ ก็อาจทำให้กำไรหดลดไปด้วย ซึ่งไม่มีใครต้องการอย่างนั้นแน่ๆ แต่ในตลาดที่ราคาเคลื่อนไหวเร็วมากอย่างตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ มันก็อาจจะเป็นการดีกับคุณ หากมองในด้านของการลดความเสี่ยงโดยการลดขนาดการซื้อขายลง
ในส่วนต่อไปเราจะอธิบายให้คุณเข้าใจง่ายขึ้น พร้อมตัวอย่างประกอบ

การปรับ"ลด"ขนาดการซื้อขาย
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า การรับลดขนาดการซื้อขายมีประโยชน์ที่ชัดเจนในด้านการลดความเสี่ยงในขณะที่คุณอยู่ในตลาด ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานะที่ได้กำไรหรือขาดทุนอยู่ก็ตาม และเมื่อนำ Trailing stop มาใช้ร่วมด้วยก็จะช่วยในการล็อคผลกำไร และทำให้คุณเสี่ยงน้อยลงหรือแทบจะไม่มีความเสี่ยงเลย (Risk-free trade)  ทีนี้เราลองไปดูตัวอย่างกันค่ะ

ตัวอย่าง:
สมมุติว่าคุณมีเงินในบัญชี $10,000  และคุณเปิดเซล  EUR/USD ในขนาด 10k ที่ราคา 1.3000 คุณตั้ง SL ไว้ที่ 1.3100 และมีเป้าหมายทำกำไร TP ที่ 300 จุด นั่นก็คือ ระดับราคาที่ 1.2700 
ในการเปิดออเดอร์ที่ขนาด 10k ของในคู่เงิน EUR/USD (มูลค่าต่อ 1 จุด เท่ากับ $1  หรือ ขนาด 0.1 lot ในบัญชีมินิทั่วไป) และการที่คุณตั้ง SL ไว้ที่ 100 จุด เท่ากับความเสี่ยงโดยรวมของคุณคือ $100 หรือ 1% ของเงินในบัญชีของคุณนั่นเอง
ไม่กี่วันต่อมา EUR/USD ได้ร่วงลงมาที่ระดับ 1.2900 หรือ 100 จุด นั่นหมายความว่าตอนนี้คุณได้กำไรไปแล้ว $100  หรือคิดเป็น 1% และทันได้นั้น เฟดก็ออกมาให้ความเห็นไม่หนักแน่น และอาจทำให้ค่าเงิน USD อ่อนค่าลงในระยะสั้น และคุณก็คิดว่า "นี่อาจทำให้นักลงทุนพากันขายดอลลาร์ทิ้ง(ซึ่งทำให้ค่าเงิน USD อ่อนค่าลง) แต่ก็ไม่รู้ว่า EUR/USD จะลงต่อไปรึเปล่า ดังนั้นฉันควรล็อคผลกำไรที่ได้มาแล้วบางส่วน"
ดังนั้นคุณจึงตัดสินใจ"ปิด"ออเดอร์เซลครึ่งหนี่งของที่เปิดไว้ โดยการปิดออเดอร์ "บาย" 5k (0.05 lot ในบัญชีมินิทั่วไปที่ระดับอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันที่ 1.2900
ทีนี้ผลกำไรของคุณก็จะถูกล็อคไว้แน่นอนที่ $50 (ในการเปิดบายที่ 5k ในคู่เงิน EUR/USD แต่ละจุดจะมีค่า $0.50 คุณได้ปิดกำไร 100 จุด เท่ากับ 100จุด x 0.50 =$50)
ในส่วนนี้ ออเดอร์เซลของคุณจากตำแหน่ง 1.3000 จะเหลืออยู่ 5k และตรงจุดนี้คุณสามารถปรับจุด SL ของคุณมาไว้ที่จุดเปิดที่ 1.3000 (SL เดิม อยู่ที่ 1.3100) เพื่อสร้างตำแหน่ง "Risk free" ตอนนี้คุณก็เทรดแบบไม่มีความเสี่ยงแล้ว และถ้าราคาวิ่งกลับขึ้นไปที่ระดับ SL ของคุณที่ 1.3000 ออเดอร์ของคุณก็จะถูกปิด โดยที่คุณไม่เสียเงิน (แถมล็อคกำไรไว้แล้ว $50) แต่ถ้าราคาวิ่งไปลงต่อไปทางเดิมคุณก็ได้กำไรเพิ่มขึ้น เพียงแค่ว่า ตั้งแต่ 1.2900 ลงมาแต่ละจุดคุณจะได้กำไรเพียงจุดละ $0.50 เท่านั้น เห็นได้ชัดว่าการปิดออเดอร์บางส่วน ก็ทำให้กำไรที่ได้ลดลงด้วย
และสุดท้ายแล้ว EUR/USD จบลงด้วยการลงไปที่ระดับ 1.2700 ที่เป็นเป้าหมายกำไรของคุณ คุณก็ยังเก็บได้ 300 จุด จากการเปิดเซล EUR/USD ครั้งแรกที่ที่ 10k และกำไรของคุณก็คือ $300  
แต่คุณได้ปิดออเดอร์ครึ่งหนึ่งคือ 5k  (จากการเปิดบาย 5k) ด้วยกำไรที่ล็อคไว้แล้ว $50 ดังนั้นขนาดออเดอร์ที่เหลืออยู่ก็คือ 5k ดังนั้นคุณก็จะปิดออเดอร์ที่กำไร 300 จุด ด้วยขนาดออเดอร์ที่ 5k (0.05 ต่อจุด x 300 จุด = $150)  บวกกับกำไรที่คุณล็อคไว้แล้วอีก $50 ดังนั้นคุณจะได้กำไรทั้งหมด $200 เมื่อเทียบกับกำไรสูงสุดจากเดิมที่คุณคาดไว้ที่ $300

การตัดสินใจที่จะที่จะปิดออเดอร์บางส่วนเพื่อล็อคผลกำไรบางส่วนในการซื้อขายนั้นขึ้นอยู่กับคุณ คุณเพียงต้องชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสีย และจากตัวอย่างนี้แสดงได้เปรียบเทียบให้เห็นถึงการทำกำไรได้สูงสุดตามเป้าหมายและการทำกำไรได้น้อยลงแต่คุณไม่ต้องกังวลกับความเสี่ยง เพราะแม้ว่ากำไรจะลดลงแต่ความเสี่ยงของคุณเป็นศูนย์ (Risk - Free)  และแบบไหนที่ดีที่สุดสำหรับคุณ? ระหว่างกำไรมากขึ้น 50% แต่นอนไม่หลับเพราะความกังวลตลอดทั้งคืน ?
โปรดจำไว้ว่า มีความเป็นไปได้ที่ตลาดจะวิ่งเลยเป้าหมาย TP ของคุณและทำให้คุณมีกำไรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราจะต้องพิจารณาเมื่อมีการปรับเปลี่ยนการเทรด และด้วยประสบการณ์ในการเทรดที่มากขึ้น คุณจะรู้ว่าควรทำอย่างไรให้การเทรดของคุณง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในบทต่อไปเราจะบอกคุณถึงวิธีการปรับเพิ่มขนาดการซื้อขาย ซึ่งคุณอาจจะสงสัยว่า ทำไมคุณถึงจะต้องอยากทำอย่างนั้นด้วยล่ะ ?
ก็เพราะว่าการเพิ่มขนาดการซื้อขายนั้น ถ้าทำอย่างถูกต้องก็สามารถเพิ่มผลกำไรของคุณให้มากขึ้น แต่ก็อย่าลืมด้วยว่า "รางวัลที่สูงขึ้นหมายถึงความเสี่ยงที่สูงขึ้น"  และถ้าทำไม่ถูกต้องเงินในบัญชีของคุณก็อาจลดลงได้อย่างรวดเร็วกว่าที่คุณจะทันคิดที่จะตะครุบเม้าแล้วกดปิดออเดอร์ ตกตะลึงกับ Margin Call บนจอคอมพิวเตอร์ของคุณ ซึ่งคุณคงไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นแน่ๆ ดังนั้นคุณก็ควรตั้งใจศึกษา เพื่อให้รู้และแยกแยะให้ออกระหว่าง "วิธีที่ถูกต้อง" และ "วิธีการที่ไม่ถูกต้อง" ในการเพิ่มผลกำไรในการเทรด ควรเพิ่มขนาดการซื้อขายเท่าใด และปรับจุดตัดขาดทุนอย่างไร
ในส่วนถัดไป เราจะบอกคุณถึงการปรับเพิ่มขนาดออเดอร์ในสองสถานการณ์ ให้ทราบตั้งแต่เรื่องของการจัดการความเสี่ยง ไปจนถึงสิ่งต้องห้ามต่างในการเพิ่มขนาดการซื้อขาย แต่วันนี้พอแค่นี้ก่อนค่ะ อ่านวันละนิดจิตแจ่มใส อ่านมากไปเดี๋ยวงง มึน เครียด ปวดหัว ดังนั้นก็ โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ :)
แต่สุดท้ายของบทความนี้ อยากจะมาบอกเทคนิคเล็กๆน้อยๆ เกี่ยวกับการลดขนาดออเดอร์ที่เปิดไว้แล้วในโปรแกรม MT4 คุณรู้หรือไม่ว่า แม้ว่าออเดอร์ที่คุณเปิดไว้แล้ว 1 ออเดอร์นั้น สามารถแบ่งปิดได้ หลายครั้ง ไม่จำเป็นต้องปิดครั้งเดียวหมด เทรดเดอร์หลายท่านอาจจะรู้แล้ว แต่ก็เชื่อเหลือเกินว่ามีอีกหลายท่านที่ยังไม่เคยรู้เลย เรามาลองดูวิธีกันนะคะ

ตัวอย่าง:
คุณเปิดออเดอร์เซลไป 0.20 Lot ซึ่งเป็นออเดอร์ใหญ่ออเดอร์เดียวของคุณ แล้วคุณต้องการปิดซึกครึ่งหนึ่ง คือ 0.10 Lot ก็ทำได้โดยการ เปิด Terminal ออกมา แล้วเลือกดูที่ช่อง Trade ซึ่งเป็นช่องปรกติที่คุณจะดูมาร์จิ้น และความเคลื่อนไหวปัจจุบันในบัญชีของคุณ
แล้ว Double Click ที่ แถบออเดอร์ของคุณ ช่องไหนก็ได้แต่อย่าเป็นช่อง S/L กับ T/P คุณจะเห็นหน้าต่างที่คล้ายกับหน้าต่างเวลาเปิดออเดอร์มาก ต่างกันตรงที่ ใต้ช่องที่เราเปิดออเดอร์บาย เซล แถบยาวๆนั้น จะมีหมายเลขออเดอร์ของเราอยู่ ซึ่งจะตรงกับหมายเลขออเดอร์ช่องที่เรากด Doublw Click ไป และขนาด Volume ที่ขึ้นมานั้นจะตรงกับ ขนาด Lot size ในออเดอร์ของเรา


หลังจากนั้น ให้เราปรับขนาด Lot size ที่เราจะปิด ที่ช่อง Volume ในตัวอย่างเราจะปิดครึ่งนึง คือ 0.10 เสร็จแล้วกดที่ปุ่มปิดออเดอร์ตามภาพ (เหมือนปิดออเดอร์ตามปรกติ)


คราวนี้ออเดอร์เดิมของคุณ ก็จะถูกปิดไปครึ่งหนึ่ง เหลือแค่  0.10 Lot เท่านั้น

ง่ายๆไม่ยากใช่มั้ยคะ ขึ้นตอนเหมือนการปิดออเดอร์ปรกติทุกอย่าง แค่เราไปปรับขนาดในช่อง Volume ว่าเราจะปิดเท่าไหร่ แล้วค่อยมากดปิดออเดอร์นั้นๆค่ะ ส่วนออเดอร์ส่วนที่เหลือของเราจะถูกเปลี่ยนจากหมายเลขเดิมเป็นหมายเลขใหม่อัตโนมัติ

การปรับเพิ่มขนาดการซื้อขายในขณะที่กำลังเสียเปรียบ
สถานการณ์แรกในการปรับเพิ่มขนาดการซื้อขาย คือ การเพิ่มเมื่อราคาวิ่งไปคนละทางกับออเดอร์เรา ซึ่งการเพิ่มขนาดการซื้อขายในขณะที่เรากำลังเสีย ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและทำใจลำบากมาก และจริงๆแล้วไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง แต่เม่ามือใหม่ก็มักจะทำกัน ในเมื่อการเทรดครั้งนั้นเรากำลังเสียแล้วทำไมจึงเปิดออเดอร์เพิ่มให้เสียหนักไปกว่าเดิม ? มันไม่สมเหตุสมผลใช่มั้ย?
แต่ถ้าคุณสามารถเพิ่มขนาดออเดอร์ในไปในทิศทางที่คุณเทรดเสียอยู่โดยที่ความเสี่ยงโดยรวมของปริมาณการซื้อขายทั้งหมดยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสมและคุณรับมือกับมันได้แบบสบายมันก็ไม่มีปัญหาที่จะทำอย่างนั้น  และเพื่อที่จะให้ปลอดภัยจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มปริมาณการซื้อขาย เราก็ต้องทำตามกฎดังต่อไปนี้
  1. จะต้องมีจุด SL และจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
  2. จะต้องมีการวางแผนว่าจะเปิดออเดอร์เพิ่มที่ระดับไหนไว้ก่อนล่วงหน้าก่อนที่จะเปิดออเดอร์
  3. ขนาดของออเดอร์ใหม่จะต้องนำมารวมกับออเดอร์เก่าเพื่อคำนวณความเสี่ยงโดยรวม และความเสี่ยงโดยรวมจะต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม (อย่า Over trade เพราะความงก เด็ดขาด)
ลองมาดูตัวอย่างง่ายๆของการเทรดแบบนี้กัน


จากตัวอย่างด้านบน เราจะเห็นว่าราคาได้ลงมาจากระดับ  1.3200 และหลังจากนั้นราคาก็มาไซด์เวย์พักตัวอยู่ระหว่าง 1.2900 ถึง 1.3000 ก่อนที่จะ Breakout ลงไป และไปทำจุดต่ำสุดที่แถวๆ 1.2700 - 1.2800 ราคาได้มีการรีบาวด์ขึ้นมาแถวโซนที่เคยมีการไซด์เวย์ล่าสุด ตอนนี้อาจบอกได้ว่าคุณคิดว่าราคาจะต้องกลับลงไปข้างล่างตามเดิม แต่ว่าคุณก็ไม่มั่นใจว่าราคาจะไปกลับตัวตรงไหนกันแน่ ซึ่งก็สองสามวิธีที่คุณจะใช้เพื่อเปิดออเดอร์ในกรณีอย่างนี้ได้ คือ
เปิดเซลที่ระดับแนวรับที่กลายเป็นแนวต้านที่ระดับ 1.2900 ซึ่งเป็นระดับด้านล่างของกรอบการไซด์เวย์ ข้อเสียของการเข้าที่จุดนี้คือ ราคาอาจจะขึ้นไปในระดับที่สูงกว่าได้ ดังนั้นคุณก็ควรวางแผนรับมือไว้ด้วยเผื่อว่าคุณจะได้ไปเปิดออเดอร์เซลอีกครั้งในระดับราคาที่ดีกว่า
หรือ รอจนราคาวิ่งมาถึงระดับกรอบราคาไซด์เวย์ด้านบนที่ 1.3000 ซึ่งเป็นแนวต้านจิตวิทยา และมีระดับความต้านทานที่แข็งแกร่งกว่า แต่ถ้าคุณรอว่าราคาจะมาถึงระดับนี้มั้ย นั่นก็หมายความว่าคุณอยู่ในความเสี่ยงของตลาด และถ้าราคาไม่วิ่งมาที่ระดับนี้ แต่กลับลงไปเลย คุณก็จะพลาดดอกาศเข้าออเดอร์เมื่อราคากลับตัวสู่แนวโน้มขาลง
หรือ คุณสามารถรอจนกว่าราคาจะมาทดสอบในบริเวณแนวต้านที่แข็งแกร่ง แล้ววิ่งกลับไปด้านล่างที่ 1.2900 ในแนวโน้มขาลงก่อนแล้วค่อยเข้าออเดอร์ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่เทรดเดอร์ผู้มีประสบการณ์นิยมใช้กันมากที่สุด เพราะมันจะเป็นการยืนยันว่าผู้ขายกำลังควบคุมตลาด แต่ก็อีกนั่นแหละ ถ้ารอแบบนี้ก็อาจทำห้ให้คุณพลาดโอกาสที่ดีกว่าในการเปิดออเดอร์
แล้วจะทำยังไงดีล่ะ ? ทำไมไม่เข้าออเดอร์ทั้งสองตำแหน่งทั้ง 1.2900 และ 1.3000 ซะเลยล่ะ และแน่นอนว่ามันจะเป็นการเทรดแบบ Double lot แต่มันไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรเลยถ้าคุณได้วางแผนทุกอย่างไว้ก่อนแล้ว ดังนั้นความเสี่ยงของคุณก็ยังอยู่ในความควบคุมแต่ทีสำคัญคือ คุณต้องทำตามแผนที่วางไว้ด้วย
อันดับต่อไปให้กำหนดลำดับรายการการเข้าออเดอร์ของเราไว้ด้วยว่า จะเข้าออเดอร์ตรงไหนบ้าง อย่างในตัวอย่างก็คือ 1.2900 และ 1.3000 หลังจากนั้นเราก็คำนวณหาขนาด Lot size ที่เราจะเปิดให้อยู่ในลำดับความเสี่ยงที่เราต้องการ
สมมุติว่า บัญชีของคุณมีเงินอยู่ $5,000 และคุณต้องการควบคุมความเสี่ยงที่ 2% ซึ่งหมายถึง ในการเทรดครั้งนี้คุณจะสามารถเสี่ยงได้ $100 ($5,000 ยอดเงินในบัญชี x 0.02 ความเสี่ยง)
ดังนั้นคุณก็สามารถเปิดเซลที่ 2,500 หน่วย (หรือ 0.025 Lot แต่ละจุด จะมีค่าเท่ากับ $0.25) ที่ระดับ 1.2900 และในกรณีนี้ ถ้าคุณต้องการตั้ง SL  ที่ 1.3100 คุณจะตัดขาดทุนที่ 200 จุด และถ้ามันมันไปชนจุด SL ของคุณคุณก็จะมีความเสี่ยงที่จะเสียเงิน $50  ($0.25 มูลค่าต่อจุด x 200 จุด)
และอีกออเดอร์นึงของคุณก็คือ เซลที่ระดับ 1.3000 ด้วยขนาด 5,000 หน่วย ( หรือ 0.05 Lot แต่ละจุดมีค่าเท่ากับ $0.50) และถ้าตั้ง SL ไว้ที่ 1.3100 ดังนั้นระยะในการตัดขาดทุนของคุณจะอยู่ที่ 100 จุด  ถ้าราคาวิ่งมาชน SL ของคุณคุณก็จะเสียเงินสำหรับออเดอร์นี้ $50 ($0.50 มูลค่าต่อจุด x100 จุด)
ดังนั้นความเสี่ยงรวมกันของทั้งสองออเดอร์เท่ากับ $100 ซึ่งเป็นความเสี่ยงในระดับที่สบาย และอยู่ในแผนการของคุณ

ไม่ยากเลยใช่มั้ยคะ ตามตัวอย่างเราสามารถเข้าออเดอร์ที่ 1.2900 และแม้ว่าตลาดจะลากออเดอร์แรกขึ้นไปทำให้เราเสียหายในออเดอร์แรก เราก็ยังสามารถเปิดออเดอร์ใหม่ที่ตำแหน่งที่ดีกว่าแต่มีความเสี่ยงในระดับปรกติที่อยู่ในแผนของเราได้
(ในกรณีที่คุณสงสัย) ราคาเปิดเปิดเฉลี่ยของทั้งออเดอร์เซลทั้งสองออเดอร์ที่ขนาด 7,500 หน่วย (0.075) ในการเทรด EUR/USD ครั้งนี้ มีราคาเปิดโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1.2966 และมีระยะ SL เฉลี่ยอยู่ที่ 134 จุด
และถ้าราคาร่วงลงไปหลังจากที่เปิดทั้งสองออเดอร์เรียบร้อยแล้ว ก็จะมีความเสี่ยงต่อกำไรเท่ากับ 1:1 (Reward : Risk) คุณจะได้กำไร $100 หากราคาลงไปที่ระดับ 1.2832 ( เพราะตาราเปิดเฉลี่ยของเราอยู่ที่ 1.2966) เพราะว่ากำไรส่วนที่มากกว่าจะได้จากการเปิดในตำแหน่งที่ดีกว่า (1.3000 เราเปิดที่ 0.05 Lot แต่ที่ 1.2900 เราเปิดไว้แค่ 0.025 Lot) ซึ่งตำแหน่งที่ทำกำไรในสัดส่วน 1:1 นั้นไม่ไกลจากโซนที่เราเปิดออเดอร์เลย ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง


การปรับเพิ่มขนาดการซื้อขายในขณะที่กำลังได้เปรียบ
ตอนนี้จะเป็นตอนที่สนุกที่สุด ถ้าคุณสามารถจับแนวโน้มของราคาได้ว่าไปทางไหนแล้วเปิดออเดอร์เพิ่มขนาดการซื้อขายเพื่อทำกำไรมากขึ้นได้ แต่อย่าลืมว่า การทีจะได้กำไรมาก ก็ต้องเสี่ยงมากเช่นกัน ดังนั้นก่อนอื่น เราต้องมาดูกฎการซื้อขายในลักษณะนี้กันก่อน เพื่อความปลอดภัยของเราเอง
  1. ตรวจสอบปริมาณขนาด Lot size สำหรับออเดอร์ที่จะเปิดเพิ่ม
  2. คำนวณความเสี่ยงของออเดอร์ที่จะเปิดเพิ่มเข้ามา
  3. ใช้ Trailing stop เพือรักษาตำแหน่งที่ได้กำไร ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่อยู่ในขอบเขตที่ตั้งไว้
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เราจะอธิบายผ่านตัวอย่างง่ายๆต่อไปนี้
ทอม เป็นเทรดเดอร์ที่เล่นตามแนวโน้ม (Trend Trader) และเขาติดตาม EUR/USD อย่างใกล้ชิด และหลังจากที่ราคาวิ่งไซด์เวย์ เขาคิดว่าราคาจะต้องขึ้นไป เขาจึงวางแผนที่จะซื้อ EUR/USD ที่ระดับ 1.2700
อันดับแรก เขาเห็นว่าราคาที่วิ่งไซด์เวย์ในช่วงที่ผ่านมาไม่เคยลงไปต่ำกว่าระดับ 1.2650 เลย ดังนั้น เขาจึงตัดสินใจที่จะตั้ง SL ไว้ที่ระดับ 1.2600 ซึ่งต่ำกว่า 1.2650 อยู่นิดหน่อย นอกจากนี้เขายังเห็นว่าระดับ 1.3000เป็นแนวต้านที่มีนัยยะว่าจะแข็งแกร่งเพราะเป็นแนวจิตวิทยา เขาจึงตั้งระดับการทำกำไร TP ไว้ที่ระดับนี้


ด้วยในระยะการ SL ที่ 100 จุด  และ TP 300 จุด ดังนั้นอัตราความเสี่ยงต่อกำไรของเขาคือ 3:1 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ดีทีเดียว
และเขามักจะพอใจที่จะเสี่ยงเพียง 2% ต่อการเทรดในแต่ละครั้งของเขา แต่ว่าในการเทรดครั้งนี้เขามีความมั่นใจกับมันมาก และด้วยระดับ กำไรต่อความเสี่ยงที่มีอยู่ เขาจึงตัดสินใจว่า จะเพิ่มขนาดการซื้อขาย (เปิดออเดอร์เพิ่ม) เข้าไปอีก "ถ้า" ราคาวิ่งไปตามที่เขาต้องการ
เขาตั้งใจว่าจะเปิดออเดอร์เพิ่มทุกๆระยะ 100 จุด ที่ได้กำไร และตั้ง Trailing stop ที่ 100 จุด และเพราะเขาวางแผนที่จะเพิ่มปริมารการซื้อขาย (ซึ้งต้องเพิ่มความเสี่ยงเข้าไปด้วย) ดังนั้นเขาจึงเริ่มต้นการเทรดออเดอร์แรกที่ความเสี่ยง 1 %
ยอดเงินในบัญชีของเขามีอยู่ $10,000 ความเสี่ยงเริ่มต้นของเขาจึงเป็น $100 ($ 10,000 x 0.01) และจากการตั้ง SL ที่ 100 จุด ทอมจึงกำหนดขนาดการซื้อขายเริ่มต้นของเขาที่ 10,000 หน่วย (10k) และเขาจะเปิดออเดอร์เพิ่มในทุกๆ 100 จุด และตั้ง Trailing stop ไว้ที่ 100 ทุกๆ 100 จุด
ทีนี้ลองมาดูภาพตัวอย่างกันแบบ step by step เพื่อให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของอัตรากำไรต่อความเสี่ยงในแต่ละครั้งของการเปิดออเดอร์เพิ่มขึ้น
 




จากตัวอย่างนี้ แสดงให้เห็นถึงความเรียบง่ายของเทคนิคพื้นฐานในการเปิดออเดอร์เพิ่มปริมาณการซื้อขายอย่างปลอดภัยในกรณีที่คุณได้กำไร ทำให้ผลกำไรเพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ก่อนที่คุณจะคุณจะเปิดออเดอร์เพื่อเพิ่มผลกำไรแบบนี้ ก่อนอื่นต้องตระหนักไว้ด้วยว่า วิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในทุกสภาพแวดล้อมหรือทุกสถานการณ์ โดยทั่วไปวิธีนี้จะใช้สถานการณ์ที่คุณได้เปรียบและเหมาะสมที่สุดในตลาดที่มีแนวโน้มชัดเจน หรือมีการเคลื่อนที่ในเทรนที่แข็งแกร่งในระหว่างวัน

เพราะว่าคุณต้องเปิดออเดอร์เพิ่มไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นตำแหน่งที่เป็นราคาเปิดออเดอร์ของคุณก็จะมีการเฉลี่ยแบบเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่คุณเปิดออเดอร์เช่นกัน นั่นก็หมายถึง ถ้าราคามีการวิ่งย้อนสวนทางกับออเดอร์ของคุณ หลังจากที่คุณได้เปิดออเดอร์เพิ่มไปแล้ว มันก็สามารถดึงการเทรดครั้งนั้นของคุณจากกำไรที่บวกอยู่ให้มาเป็นติดลบได้ง่ายๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องวิ่งไปไกลนัก
นอกจากนี้คุณยังควรระรึกว่า การปรับเพิ่มขนาดการซื้อขายในกรณีที่คุณได้กำไรอยู่ ในภาวะตลาดที่วิ่งในกรอบราคา (Rang bound market) หรือช่วงเวลาที่ตลาดมีสภาพคล่องต่ำ จะทำให้ราคาวิ่งไปชน SL ได้ง่ายดายมาก และสิ่งสุดท้ายที่ต้องคิดถึงคือ ในการเพิ่มออเดอร์ในแต่ละครั้ง คุณจะต้องใช้มาจิ้นที่มีอยู่ (Available Margin) ด้วย ดังนั้น ก่อนที่จะทำการเดออเดอร์เพื่อเพิ่มกำไรแบบนี้ คุณจึงต้องคิดให้ดีด้วยว่า คุณพร้อมหรือไม่ และคุณอยู่ในตลาดแบบไหน

 Credit:Thaiforex School

ความคิดเห็น

เรื่องราวที่น่าสนใจ