ค่าเงินบาทและผลต่อเศรษฐกิจ

ค่าเงินบาทและผลต่อเศรษฐกิจ

ค่าเงินบาทและผลต่อเศรษฐกิจ

ค่าเงินบาทแข็ง
ช่วงนี้มักจะได้ยินสื่อต่างๆ พูดคำว่า ค่าเงินบาทแข็งอยู่ตลอด จึงอยากจะขออธิบายให้ฟังเพื่อให้ผู้อ่านมีความเข้าใจว่า ค่าเงินบาทแข็งคืออะไร เกิดจากอะไรได้บ้าง ค่าเงินบาทแข็งแล้วอ่อนได้หรือไม่ ถ้าแข็งหรืออ่อนแล้วจะมีผลดีและผลเสียต่อใคร อย่างไร แล้วค่าเงินบาทที่อ่อนดีกว่าค่าเงินบาทที่แข็งจริงหรือไม่ ซึ่งก่อนอื่นขอสร้างความเข้าใจก่อนว่า ค่าเงินบาทคืออะไร?


ค่าเงินบาท หมายถึง จำนวนเงินบาทที่ใช้นำไปแลกเปลี่ยนกับเงินตราต่างประเทศ หรือที่เรียกว่าเงินสกุลอื่นๆ เช่น ดอลลาร์สหรัฐฯ ดอลลาร์สิงคโปร์ เยนญี่ปุ่น ปอนด์สเตอร์ลิง เป็นต้น ซึ่งที่ค่อนข้างคุ้นเคยก็คือ การนำเงิน 33 บาทไปแลกกับดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือการนำเงิน 30 บาทไปแลกได้ 100 เยนญี่ปุ่น หรือ นำเงิน 63 บาท ไปแลกได้ 1 ปอนด์สเตอร์ลิง เป็นต้น

โดยเวลาที่พูดกันว่า ค่าเงินบาทแข็ง ก็หมายถึง เงินบาทของเรามีค่ามากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลที่กำลังเปรียบเทียบอยู่ เช่น ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็คือ สมมติ เราเคยใช้เงินบาทจำนวน 36 บาทไปแลกกับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ตอนนี้ เราใช้เงินบาทในจำนวนที่น้อยลง เช่น 33 บาทไปแลกกับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้น ส่วนคำว่า ค่าเงินบาทอ่อนตัว ก็ตรงกันข้ามกับค่าเงินบาทแข็ง กล่าวคือ เราต้องใช้เงินบาทมากขึ้น เช่น 40 บาทไปแลก 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้น

ค่าเงินบาทแข็ง หรืออ่อน จะเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น หากสมมติให้ปัจจัยอื่นๆ คงที่ การที่อยู่ ๆ ก็มีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศไทยมาก ๆ เช่น เข้ามาในตลาดหุ้น ซึ่งเวลาเข้ามานั้น นักลงทุนต่างประเทศจะไม่สามารถเอาเงินตราต่างประเทศที่เค้าถืออยู่มาลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้โดยตรง โดยเค้าต้องขอแลกเป็นเงินบาทก่อน ดังนั้น กรณีนี้ ความต้องการในเงินบาทก็จะสูงขึ้น ซึ่งเวลาที่ความต้องการในเงินบาทสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณเงินบาทที่มีในระบบเศรษฐกิจอยู่คงที่ กลไกตลาดก็จะทำงาน โดยทำให้เงินบาทมีค่าสูงขึ้น หรือที่เราเรียกว่าค่าเงินบาทแข็งขึ้นนั่นเอง
อีกตัวอย่างที่อาจทำให้เห็นภาพชัดขึ้น ก็คือ หากธุรกิจของไทยสามารถส่งออกได้มาก ผู้ส่งออกของไทยเมื่อได้รับรายได้ในรูปของเงินสกุลต่างประเทศ ผู้ส่งออกก็จะเอาเงินสกุลต่างประเทศนั้น ๆ มาแลกเป็นเงินบาท เพื่อจะได้นำมาใช้ต่อไป ในกรณีนี้ก็จะคล้ายๆ กับกรณีแรกคือ ความต้องการเงินบาทก็จะมากขึ้น และทำให้ค่าของเงินบาทแข็งขึ้นได้เช่นกัน

สำหรับกรณีของค่าเงินบาทอ่อนลง ก็อาจจะเกิดได้ในกรณีที่ไทยต้องการนำเข้ามาก ๆ เช่น ต้องการนำเข้าน้ำมัน หรือกรณีการนำเข้าวัตถุดิบหรือเครื่องจักรจากต่างประเทศ ดังนั้น ในกรณีนี้ ก็จะต้องมีการนำเงินบาทไปแลกเป็นเงินตราต่างประเทศ เพื่อที่จะได้เอาเงินไปจ่ายต่างประเทศ ความต้องการในเงินตราสกุลต่างประเทศก็จะสูงขึ้น กลไกตลาดก็จะทำให้ค่าของเงินบาทอ่อนลง เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า ค่าเงินบาทสามารถที่จะแข็งขึ้นและอ่อนลงได้ด้วยหลายๆ ปัจจัย แม้กระทั่งหากนักเก็งกำไรมีความรู้สึกว่าค่าเงินบาทน่าจะอ่อนกว่าที่เป็นอยู่ จึงต้องการที่จะถือเงินบาทน้อยลง และหากนักเก็งกำไรทุก ๆ คน คิดและทำเหมือนกันหมด ก็จะมีส่วนทำให้ค่าเงินบาทสามารถอ่อนค่าลงได้เช่นกัน

ค่าเงินบาทแข็งหรืออ่อนมีผลดีและผลเสียต่อใคร อย่างไร แล้วค่าเงินบาทอ่อนดีกว่าค่าเงินบาทแข็งจริงหรือไม่ ตรงนี้จะขออธิบายว่า เวลาค่าเงินบาทแข็งหรืออ่อน จะต้องมีทั้งผู้ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์เสมอ จึงไม่ควรมองเพียงด้านใดด้านหนึ่ง โดยมีรายละเอียดดังนี้
เวลาค่าเงินบาทแข็ง ก็คือใช้จำนวนเงินบาทที่น้อยลงไปแลกกับเงินสกุลต่างประเทศ คนที่ได้ประโยชน์ จะมีหลายกลุ่ม อาทิ

คนที่ต้องนำเข้าสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศ เช่น ธุรกิจที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบ หรือ เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตจากต่างประเทศ ก็จะซื้อวัตถุดิบ หรือเครื่องจักรได้ถูกลง ต้นทุนการผลิตก็จะต่ำลง หรือกรณีที่เราพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ เพื่อใช้โดยตรง หรือใช้ในการผลิตไฟฟ้า กรณีนี้ ราคาน้ำมันที่เราเติม กับค่าไฟฟ้าที่เราจ่ายก็จะถูกไปด้วย เพราะนำเข้ามาในราคาที่ถูกลง หากราคาวัตถุดิบ เครื่องจักร และน้ำมันที่อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศไม่ได้แพงขึ้น หรือแม้ว่า ราคาวัตถุดิบ เครื่องจักร และน้ำมันที่อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศจะแพงขึ้น แต่การที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ก็ช่วยให้ราคาของวัตถุดิบ เครื่องจักรและน้ำมันดังกล่าวในรูปของเงินบาทไม่แพงขึ้นได้ ดังจะเห็นตัวอย่างจากช่วงที่ผ่านมาที่ในบางช่วงที่แม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกในรูปสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ จะแพงขึ้น แต่ราคาน้ำมันในประเทศในรูปของเงินบาทไม่ได้ปรับขึ้นตาม ส่วนหนึ่งก็เพราะค่าเงินบาทที่แข็งช่วยให้ราคาในการนำเข้าไม่แพงขึ้นนั่นเอง
คนที่มีหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ ก็จะมียอดหนี้เมื่อแปลงเป็นเงินบาทน้อยลง ก็อาจจะเป็นจังหวะให้เราอาจจะตัดสินใจใช้หนี้ เพราะใช้เงินน้อยลงในการแลกเงินสกุลต่างประเทศไปคืนเค้า เป็นต้น

คนที่ส่งลูกเรียนเมืองนอก หรือคนที่อยากไปเที่ยวเมืองนอก ก็ใช้เงินน้อยลงในการส่งเงินให้ลูกได้เท่าที่เคยส่ง หรือใช้เงินน้อยลงเวลาไปเที่ยวหรือไปซื้อของที่เมืองนอก เป็นต้น
แต่ค่าเงินบาทแข็ง ผลกระทบก็มีเช่นกัน

ผลต่อคนที่ส่งออกในด้านความสามารถในการแข่งขัน เช่น แต่ก่อนชาวต่างชาติเคยซื้อข้าวจากเรา สมมติ ตันละ 8,000 บาท เวลาเค้ามาซื้อเค้าเคยใช้เงิน 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาซื้อ หากค่าเงินบาทแข็งขึ้น และเค้าเอาเงิน 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่าเดิมมาซื้อ คราวนี้เค้าจะไม่ได้ข้าว 2 ตัน แต่จะได้น้อยกว่านั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่ค่าเงินบาทแข็ง สินค้าของเราก็จะดูว่าแพงขึ้น ชาวต่างชาติเค้าก็อาจจะหันไปนำเข้าจากประเทศอื่นแทน แต่ประเด็นนี้ จะมีข้อยกเว้นตรงที่ หากคู่แข่งของเรา เช่น เวียดนาม หรืออินเดีย หรือประเทศอื่นๆ ค่าเงินของเค้าแข็งขึ้นด้วย กรณีนี้ ค่าเงินบาทที่แข็ง ก็ไม่ได้มีส่วนทำให้เราส่งออกไม่ได้ หรือสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งไป (ในเรื่องความสามารถในการแข่งขันนี้ แม้ค่าเงินจะเป็นเรื่องหนึ่งที่มีผล แต่ก็ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกมาก อาทิ ความสามารถในการผลิต ต้นทุนการผลิต เป็นต้น)

ผลต่อคนที่ส่งออกด้านรายได้ที่จะได้รับ เช่น สมมติเคยขายได้ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ และเคยแลกได้ 4,000 บาท (หากอัตราแลกเปลี่ยน 40 บาทแลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) แต่เพราะค่าเงินบาทแข็งขึ้น (อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 36 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ก็เลยเอา 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาแลกได้เงินน้อยลง โดย แลกได้เพียง 3,600 บาท เป็นต้น ก็ได้เงินน้อยลง แต่ถ้าผู้ส่งออกคนนี้ มีการนำเข้าด้วย ก็จะสามารถลดผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งไปได้ โดยถ้าผู้ส่งออกคนนี้ มีการนำเข้าที่มากกว่าการส่งออก ก็จะถือได้ว่า แม้จะเป็นผู้ส่งออก แต่ก็ยังได้รับผลดีเวลาที่ค่าเงินบาทแข็งได้ เป็นต้น

โดยหากเป็นกรณีค่าเงินบาทอ่อนลง ผลก็จะเป็นตรงกันข้าม คือ ผู้ที่ต้องอาศัยการนำเข้าวัตถุดิบ หรือเครื่องจักรมาก ๆ หรือผู้ที่ยังส่งลูกเรียนเมืองนอกอยู่ ก็จะต้องจ่ายแพงขึ้น ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทที่อ่อนลง ก็จะช่วยให้ผู้ส่งออกแข่งขันได้ดีขึ้น (หากค่าเงินของประเทศคู่แข่งไม่ได้อ่อนลงตามไปด้วย) และมีรายได้หลังจากแลกเป็นเงินบาทเพิ่มขึ้น


ดังนั้น เวลาจะดูผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็ง หรืออ่อน รวมทั้งการสรุปว่าค่าเงินบาทอ่อนเป็นเรื่องดี ค่าเงินบาทแข็งเป็นเรื่องไม่ดี จึงอาจจะไม่จริงเสมอไป แต่จะต้องดูผลดีและผลเสียในหลายๆ ด้านประกอบกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนว่าจะเลือกมองจากด้านใด ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่แล้ว อาจไม่มีใครตอบได้ว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยควรจะอยู่ที่ระดับใด เพราะขึ้นอยู่กับสภาพของเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่สิ่งที่เห็นตรงกันเป็นส่วนใหญ่คือ ค่าเงินบาท ควรจะมีเสถียรภาพ กล่าวคือ ไม่ควรจะผันผวนเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างรวดเร็วมากเกินไป เพราะการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว คาดเดาได้ยาก จะมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ และส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจต่อไป



ขอบคุณที่มา Related link:http://www.bot.or.th/BOTHOMEPAGE/databank/FinMarkets/ExchangeRate/exchange_t.asp

ความคิดเห็น

เรื่องราวที่น่าสนใจ