ความรู้เรื่องทองคํา


ทองคำเป็นโลหะมีค่าชนิดหนึ่ง โดยเป็นแร่ธาตุตามธรรมชาติซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่มีความคงทนต่อการผุกร่อน เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่เสื่อมสภาพ และมีมูลค่าในตัวเอง ประกอบกับทองคำมีความสวยงามไม่สามารถปลอมแปลงได้ง่ายๆ จึงถูกนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องประดับ อีกทั้งยังเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็น ทุนสำรองระหว่างประเทศ และอยู่คู่กับเศรษฐกิจโลกมายาวนาน
ในอดีตตลาดทองคำของประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเป็นการอุปโภคในรูปแบบของเครื่องประดับ หรือทองคำรูปพรรณ โดยมีสัดส่วนของทองคำแท่ง ไม่มากนักและ จำกัดเพียงในกลุ่มร้านค้าทองเป็นหลัก แต่หลังจากตลาดทองคำมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ทั้งด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ ทองคำและการเข้าถึง แหล่งข้อมูล ที่สะดวก ประกอบกับกระแสการลงทุนที่มีการเปลี่ยนแปลงจากสินทรัพย์ชนิดอื่นมาลงทุนในทองคำเพิ่มขึ้น จึงเป็นแรงดึงดูดให้มีผู้สนใจหันมา ลงทุนในทองคำ เพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็ว ทั้งการซื้อขายทองคำแท่งเพื่อเก็งกำไรจากส่วนต่างของราคา หรือแม้กระทั่งการซื้อทองคำที่เป็นเครื่องประดับ เช่น ต่างหู สร้อย แหวน ก็ถือเป็นการลงทุนในทองคำทางอ้อมอย่างหนึ่ง
**คุณสมบัติเฉพาะของทองคำ
- ทองคำจัดเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าในตัวเองเช่นเดียวกับเงินสด เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าทองคำนั้นมีสภาพคล่องสูงสามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินได้ง่าย
- มูลค่าของทองคำมีความเป็นกลางไม่ผันผวนไปตามสถานการณ์ต่างๆ
- เป็นสินทรัพย์ที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายในด้านการป้องกันความเสี่ยงจากการด้อยค่าได้ในระยะยาว
- การลงทุนทองคำแท่งมีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมในการซื้อขายต่ำกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ
- เป็นแหล่งสุดท้ายที่พึ่งพาได้เสมอในภาวะฉุกเฉิน
การลงทุนในทองคำมีความน่าสนใจอย่างไรเมื่อเทียบกับสินทรัพย์เพื่อการลงทุนประเภทอื่น
    • ทองคำแท่งกับทองรูปพรรณ : การซื้อทองคำแท่งดีกว่าทองรูปพรรณเนื่องจากไม่เสียค่ากำเหน็จในการซื้อขาย แต่ทองรูปพรรณที่คนไทยนิยมซื้อในรูปของเครื่องประดับต่างๆ เช่น สร้อยคอ กำไล ต่างหู เพื่อสวมใส่ก็ถือว่าเป็นการออมทางอ้อมอย่างหนึ่ง
    • ทองคำกับหุ้น : เปรียบเทียบค่อนข้างยากเพราะความเสี่ยงและปัจจัยที่มากระทบต่างกันค่อนข้างมาก โดยทองคำมักมีทิศทางเป็นบวกเมื่อเผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายทางเศรษฐกิจหรือการเมือง เช่น การอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินสำคัญ เศรษฐกิจตกต่ำ ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น เป็นต้น แต่หุ้นจะมีทิศทางเป็นลบ
    • ทองคำกับตราสารหนี้และเงินฝาก : ตราสารหนี้และเงินฝากผลตอบแทนค่อนข้างต่ำกว่าเมื่อเทียบกับทองคำ หากย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา ตราสารหนี้รัฐให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 2.37% เงินฝาก 1.5% ขณะที่ทองคำให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 11.33% และทองคำยังมีสภาพคล่องสูงกว่าตราสารหนี้ด้วย
    • ทองคำ–ที่ดิน : ทองคำมีสภาพคล่องกว่าที่ดินมาก และสามารถแปรสภาพเป็นเงินสดได้ง่ายและเร็วกว่า
    • กำไรที่ได้จากการซื้อขายทองคำไม่ถูกนำมาคำนวณในการคิดภาษีเงินได้ (ตามข้อกฎหมายมาตรา 42 (9) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้จากการขายสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในการทางค้าหรือหากำไร)
อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีของสินทรัพย์แต่ประเภท ตั้งแต่ 2000-2005

สินทรัพย์
อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย
1. พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond)
2.37%
2. เงินฝากธนาคาร (Saving Bank)
1.50%
3. หันกู้ภาคเอกชน (Corporate Bond)
6.82%
4. ทองคำแท่ง (Gold Bullion)
11.33%
5. กองทุนรวม (Mutual Fund)
17.17%
6. หุ้นสามัญ (Stock)
15.69%
จากเหตุผลที่กล่าวมาทองคำจึงถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงและสามารถช่วยบริหารพอร์ตการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ความเสี่ยงที่ต่ำกว่าและ ยังเป็นอีกทางเลือกที่ดีสำหรับการออม
**การกระจายทองคำลงในพอร์ตการลงทุน
  1. กำหนดเป้าหมายของการลงทุน
  2. ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
  3. ข้อจำกัดในการลงทุน
  4. สภาวะตลาดการลงทุน
นักลงทุนควรประเมินตนเองก่อนโดยการกำหนดเป้าหมายในการลงทุนว่า ต้องการลงทุนเพื่ออะไรและมีระยะเวลาในการลงทุนนานเท่าใด เช่น เพื่อการเก็งกำไร ระยะสั้น หรือเพื่อเก็บไว้เพื่อเพิ่มมูลค่าในระยะยาว ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ใช้ในการบริหารพอร์ตการลงทุนของนักลงทุน อาจต้องเริ่มด้วย การถามตัวเองว่ายอมรับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวการณ์ทางการเงินและภาระค่าใช้จ่ายของแต่ละบุคคล รวมถึงสภาวะตลาด การลงทุนขณะนั้น
ตัวอย่างการบริหารพอร์ตการลงทุนโดยมีทองคำ เป็นหนึ่งในสินทรัพย์เพื่อการลงทุน เช่น นาย ก เพิ่งเริ่มลงทุนในครั้งแรก ยอมรับความเสี่ยงได้น้อย และต้องการ ป้องกันเงินทุนของตนเอง อาจใช้วิธีจัดพอร์ตแบบระมัดระวัง โดยมีทองคำอยู่ในพอร์ต 10% เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง และเน้นในตราสารหนี้หรือ พันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทนคงที่ หรือกรณี นาย ข มีความต้องการผลตอบแทนสูง มีความเข้าใจในเรื่องความเสี่ยงกับผลตอบแทนดี ก็อาจจะเพิ่มสัดส่วน การลงทุนในทองคำเป็น 20% เป็นต้น ทั้งนี้ทองคำถือเป็นสินทรัพย์ที่ควรมีไว้ในพอร์ตการลงทุนของนักลงทุน เพราะทองคำถือเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าในตัวเอง ด้วยคุณสมบัติที่สำคัญของทองคำจะยังคงทำให้ทองคำเป็นสินทรัพย์อีกชนิดหนึ่งที่ช่วยในการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ กับการลงทุนในอนาคต
2.2 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อราคาทองคำในประเทศและต่างประเทศ 
ปัจจัยที่มีผลต่อราคาทองคำภายในประเทศ
  • ราคาทองคำต่างประเทศ
ราคาทองคำในประเทศเป็นราคาที่อ้างอิงมาจากราคาทองคำในต่างประเทศ(Spot Rate) ณ ช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งเป็นราคาสากลได้มาตรฐาน และได้ใช้ราคาดังกล่าวตกลงซื้อขายกันทั่วโลก หมายความว่า ปัจจัยที่มีนัยสำคัญต่อราคาทองคำในต่างประเทศ ก็จะมีผลต่อ ราคาทองคำในประเทศด้วยเช่นกัน ซึ่งปัจจัยต่างๆที่มีนัยสำคัญต่อราคาทองคำก็ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น
  • อัตราแลกเปลี่ยน(ค่าเงินบาท)
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในประเทศ(ค่าเงินบาท) เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีนัยสำคัญต่อราคาทองคำในประเทศ เนื่องจาก ราคาทองคำในประเทศ อ้างอิงโดยตรงกับ ราคาทองคำ ต่างประเทศและต้องนำมาแปลงจาก ราคาทองคำในรูปเงินสกุลดอลลาร์มาเป็นราคาทองคำในรูปเงินบาท จึงเป็นสาเหตุให้ปัจจัย ความเสี่ยง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในประเทศ (ค่าเงินบาท) มีส่วนเกี่ยวข้องกับ การเคลื่อนไหวของ ราคาทองคำในประเทศ ค่อนข้างมาก
  • อุปสงค์และอุปทานในประเทศ
อุปสงค์และอุปทานในประเทศจะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในประเทศเพียงเล็กน้อย และเมื่อเทียบกันระหว่างราคาทองในประเทศ กับต่างประเทศ จะมีความแตกต่างกันไม่มาก เนื่องจากอุปสงค์และอุปทานในประเทศไทย เมื่อเทียบกับทั่วโลกยังคงมีปริมาณความต้องการบริโภคทองคำที่น้อย และไม่มีนัยสำคัญมากนัก
ดังนั้นการคำนวณราคาทองคำในประเทศ จึงเป็นราคาที่อ้างอิงมาจากราคาทองคำในต่างประเทศ (Spot Rate) ณ ช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งเป็นราคาสากลได้มาตรฐาน และได้ใช้ราคาดังกล่าวตกลงซื้อขายกันทั่วโลก หมายความว่า ปัจจัยที่มีนัยสำคัญต่อราคาทองคำในต่างประเทศ ก็จะมีผลต่อ ราคาทองคำในประเทศด้วยเช่นกัน
โดยนำราคาทองคำต่างประเทศ (Spot Rate) มาคูณกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในประเทศ (ค่าเงินบาท) เพื่อแปลงหน่วยเงินตรา ทำให้ถ้าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น จะส่งผลให้ราคาทองคำในประเทศลดลง และในทางตรงกันข้ามถ้าค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจะทำให้ราคาทองคำสูงขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องคำนึงถึง ความต้องการซื้อขาย ของคนในประเทศด้วย เช่น ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ปีใหม่ จะมีความต้องการซื้อมากราคาจึงสูงขึ้นเป็นต้น โดยผู้กำหนดราคาซื้อขายคือสมาคมค้าทองคำ
ปัจจัยที่มีนัยสำคัญต่อราคาทองคำ
  1. ค่าเงินดอลลาร์ ราคาทองคำเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจาก ค่าเงินดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักที่มีความเป็นสากล ที่สามารถ ซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ทั่วโลก และเป็นที่ยอมรับของนักลงทุนทั่วโลกเช่นเดียวกับทองคำ
  2. ราคาน้ำมัน(สินค้าโภคภัณฑ์) ราคาน้ำมันเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีนัยสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในปัจจุบัน ซึ่งการเคลื่อนไหวจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจาก น้ำมันจัดได้ว่าเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในกลุ่มสินค้า ที่มีความใกล้เคียงกับทองคำและกลุ่มโลหะมีค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับสินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มอื่น อีกทั้งน้ำมันยังเป็นตัวที่มีผลต่อภาวะเงินเฟ้อโดยตรงในปัจจุบัน ซึ่งเงินเฟ้อกับราคาทองคำจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันอยู่แล้ว ตามทฤษฏี ดังนั้นเมื่อมีปัจจัยใดที่มากระทบต่อราคาน้ำมัน ก็จะส่งผลถึงราคาทองคำด้วยเช่นกัน
  3. วิกฤตการณ์ทางการเมือง ในปัจจุบันนี้วิกฤตการณ์เมืองเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อราคาทองคำมากพอสมควร ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากในระหว่างช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์เมืองต่างๆนั้น ความต้องการที่เข้าถือทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้นตามความรุนแรงของวิกฤตการณ์นั้นๆ
  4. นโยบายทางการเงินและอัตราดอกเบี้ย เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาทองคำทางอ้อมผ่านทางการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยของประเทศต่างๆ และภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้นโดยสังเกตผ่านทาง ตัวเลขเศรษฐกิจ ที่ประกาศทุกสัปดาห์ ตัวอย่างเช่น กรณีธนาคารกลางสหรัฐประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะทำให้มีนักลงทุนเข้าซื้อเงินดอลลาร์มากขึ้นเนื่องจากได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น อีกทั้งในปัจจุบันการเคลื่อนย้ายเงินของโลก เป็นไปอย่างเสรี ทำให้เงินลงทุนสามารถเคลื่อนย้ายจาก สินทรัพย์หนึ่งไปสินทรัพย์หนึ่งได้อย่างรวดเร็ว ตามข้อมูลข่าวสาร ที่มีอย่างสมบูรณ์ ทำให้เวลาสหรัฐปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ค่าเงินดอลลาร์จึงแข็งค่าขึ้นและราคาทองคำปรับลดลง เป็นต้น
  5. วัฏจักรธุรกิจ วัฏจักรธุรกิจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อราคาทองคำ ซึ่งสังเกตเห็นได้จาก ปริมาณการซื้อขาย ในแต่ละช่วงเวลาของแต่ละปี เช่น ช่วงฤดูร้อน(Summer)ของทวีปยุโรปและอเมริการะหว่างเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม ของทุกปี จะมีปริมาณการซื้อขายเบาบางกว่าในช่วงเวลาอื่นของปี เนื่องจาก ในช่วงฤดูร้อน(Summer) ของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาใน การพักผ่อนของประชาชนส่วนใหญ่ อีกทั้งTraderของตลาดการเงินและทองคำ ส่วนใหญ่มักจะลาพักร้อนในช่วงเวลานี้ จึงส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายทองคำในตลาดลดลง และทำให้ราคาทองคำในช่วงนี้ ลดความผันผวนลงมาก เมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่นของปี

ความคิดเห็น

เรื่องราวที่น่าสนใจ