ความจริงของ QE ที่โลกควรรับรู้ ...เผยเบื้องหลังเกมการเงินระดับโลกที่น่าเรียนรู้

ความจริงของ Q.E. (ที่ต้องรู้)


ตลอดเวลากว่า 13 ปีที่ผมได้เรียนและทำงานในการเงินมา ผมได้พบเห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่แปลกประหลาดในตลาดทุน แต่ในจำนวนนั้นสิ่งที่เหลือเชื่อที่สุดคือสิ่งที่เราทุกคนรู้จักกันในชื่อ มาตรการ Q.E. ซึ่งย่อมาจาก Quantitative Easing ที่สหรัฐฯ เริ่มใช้เมื่อปี 2009 ก่อนจะตามมาด้วยญี่ปุ่นและคาดว่าจะเป็นยุโรปในปีหน้า ทุกครั้งที่มีการประกาศใช้นโยบาย Q.E. ตลาดหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกก็จะตอบรับในทางบวก ดูได้จากตลาดหุ้นทั่วโลกที่วิ่งขึ้นอย่างบ้าคลั่งตั้งแต่เริ่มมี Q.E. เมื่อปี 2009 นักวิเคราะห์และนักลงทุนส่วนใหญ่ล้วนชอบใจใน Q.E. บางส่วนก็ขอร้องให้สหรัฐฯ และประเทศต่างๆดำเนินนโยบายนี้ไปถึง Q.E. 99 เลยก็ได้ 

แต่ความจริงมันเป็นเช่นนั้นหรือ? แท้จริงแล้ว Q.E. คืออะไรกันแน่?

ก่อนอื่นต้องขออธิบายความหมายของ Q.E. ให้เข้าใจตรงกันเสียก่อน ในเดือนมีนาคม 2009 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (หรือเรียกสั้นๆว่า FED) ต้องการผลักดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้พ้นจากการถดถอยหลังเกิดวิกฤติการเงินในปี 2008 ซึ่งรู้จักกันในชื่อ Hamburger Crisis จึงดำเนินการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ที่ค้ำประกันด้วยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่สถาบันการเงินต่างๆถือครองอยู่ เมื่อ FED เอาเงินดอลลาร์มาแลกกับกระดาษที่สัญญาจะจ่ายดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นในอนาคต นั่นหมายถึง FED กำลังพิมพ์เงินดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) ออกมาสู่ตลาดการเงิน และส่งผลให้ราคาตราสารหนี้ทั้งระบบปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งก็ส่งผลให้ผู้ถือตราสารหนี้ทุกคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงินรวยขึ้นในภาพรวม เมื่อสถาบันการเงินมีความมั่นคงมากขึ้นจากสินทรัพย์ที่มีราคาสูงขึ้นก็จะเริ่มกล้าที่จะปล่อยสินเชื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนในไปสู่มือคนที่ต้องการใช้เงินได้

ในอีกด้านหนึ่ง FED ก็ทำการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายควบคู่กันไปด้วย เพื่อกดดันให้สถาบันการเงินที่ถือครองตราสารหนี้และผู้ฝากเงินที่รับดอกเบี้ยอยู่นำเงินเหล่าออกมาใช้จ่ายหรือลงทุนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและผลักดันให้เศรษฐกิจสหรัฐพื้นตัวได้ FED ดำเนินนโยบายนี้ 3 ครั้ง Q.E.1 (2009) Q.E.2 (2010) และ Q.E.3(2012) รวมแล้ว FED ซื้อตราสารหนี้ (หรือพิมพ์เงินดอลลาร์) ไปทั้งสิ้น 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงเวลา 6 ปี ผลจากดำเนินนโยบายนี้อย่างต่อเนื่องทำให้เศรษฐกิจสหรัฐก็ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งมาโดยตลอดและเป็นแบบอย่างให้ประเทศอื่นๆที่ประสบปัญหาเหมือนๆกันอย่างญี่ปุ่นและยุโรปทำตามในช่วงต่อมา

วิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยวิธีนี้ฟังดูง่ายแค่พิมพ์เงินออกมาเยอะๆเศรษฐกิจก็ฟื้นแล้ว เช่นนั้นแล้วทำไมประเทศต่างๆที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจถึงไม่ทำกันล่ะ ทำไมไทยถึงไม่ทำ Q.E. บ้างเพื่อผลักดันตัวเองออกจากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997 ทำไมอาร์เจนติน่าถึงไม่ทำบ้างเพื่อเอาตัวรอดจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1999 ทำไมรัสเซียถึงไม่ทำเมื่อเกิดวิกฤตการเงินในปี 1998 คำตอบนั้นง่ายแต่ฟังดูเหลือเชื่อมาก นั่นคือ “ทำไม่ได้”

ลองนึกย้อนไปสมัยที่เรามีวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997 ประเทศไทยอยู่ในสภาวะใกล้เคียงกับสหรัฐฯ สมัยวิกฤต Hamburger ประเทศไทยขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ภาคเอกชนมีภาระหนี้สินที่สูง มีการลงทุนและการใช้จ่ายเกินตัว ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อถือในความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศ จึงแห่ถอนเงินกู้ที่ปล่อยให้กับประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินสกุลเงิน USD ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทจนกระทั่งต้องยอมแพ้ลอยตัวค่าเงินในที่สุด ค่าเงินบาทปรับตัวขึ้นจากระดับที่ตรึงไว้ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์เป็น 50 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงข้ามคืน บริษัทเอกชนและสถาบันการเงินย่อมไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ในสกุลเงิน USD ที่มีมูลค่าสูงขึ้นเป็นเท่าตัวได้ตามสัญญาและประเทศไทยก็เข้าสู่สภาวะล้มละลายในที่สุด

ครั้งนั้นรัฐบาลไทยต้องบากหน้าไปขอกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งมีสปอนเซอร์ใหญ่คือสหรัฐฯนี่แหละ สิ่งที่ IMF บังคับให้เราทำเพื่อแลกกับเงินกู้ คือ รัดเข็มขัด ปิดสถาบันการเงินที่อ่อนแอ ขายสินทรัพย์ที่ราคาต่ำเพื่อชำระหนี้ต่างประเทศให้ครบ ผลก็คือเจ้าหนี้ต่างประเทศสบายแฮเพราะได้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนเป็นส่วนใหญ่ แต่เจ้าหนี้ไทยต้องตัดหนี้สูญลูกหนี้ในประเทศ สถาบันการเงิน 56 แห่งต้องปิดกิจการ ธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ล้มหายตายจาก นักธุรกิจบางคนทำใจไม่ได้ ฆ่าตัวตายไปในระหว่างนั้นก็เยอะ สรุปฝรั่งไม่เจ็บเท่าไรแต่คนไทยลำบากหนัก

ลองนึกกลับกันว่าถ้าวันนั้น ธปท. เลือกจะพิมพ์เงินเหมือนที่ FED ทำบ้างเราจะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจในขณะนั้นได้หรือไม่ คำตอบคือ “ไม่ได้” เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยพิมพ์ได้แต่เงินสกุลบาทเท่านั้น ยิ่งพิมพ์มากค่าเงินบาทก็ยิ่งอ่อน มูลหนี้ซึ่งอยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นอยู่ดี และอาจจะทำให้เกิดเงินเฟ้อภายในประเทศซ้ำเติมภาคธุรกิจและการบริโภคที่ย่ำแย่อยู่แล้วเข้าไปอีก ธปท. คิดดีแล้วก็บอกรัฐบาลว่าไปขอกู้ IMF เถอะ ประเทศอื่นๆที่ปัญหาอย่างรัสเซีย เม็กซิโก หรืออาร์เจนตินาก็เป็นแบบเดียวกันหมด

แล้วทำไมสหรัฐฯสามารถทำได้ นั่นก็เพราะเงินสกุลดอลลาร์เป็นสกุลเงินที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางในการซื้อขายระหว่างประเทศ รวมถึงถูกนำไปใช้เป็นเงินทุนสำรองของประเทศต่างๆทั่วโลก แม้ FED จะพิมพ์ออกมามากเท่าไรก็ไม่ได้ทำให้ความน่าเชื่อถือของสกุลเงินดอลลาร์ลดลงเลยแม้แต่น้อย เพราะทุกประเทศยังคงต้องใช้เงินสกุล USD สำหรับการค้าขายและใช้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ดี สังเกตได้จากเมื่อเดือนมีนาคม 2552 ก่อนที่ FED จะดำเนินนโยบาย Q.E.1 ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (THB/USD) อยู่ที่ประมาณ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากจบ Q.E.3 THB/USD ก็ยังอยู่ที่ประมาณ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ USD อ่อนลงไปแค่ประมาณ 6% เท่านั้นเอง ทั้งๆที่ FED พิมพ์เงินออกมาเพิ่มขึ้นจาก 8 แสนล้าน USD มาเป็น 4.5 ล้านล้าน USD หรือเพิ่มขึ้น 462% หลังจากจบ Q.E.3 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 

เท่ากับว่าตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ดำเนินนโยบาย Q.E. คนอเมริกันรวยขึ้นเมื่อเทียบกับไทย 434% จากการพิมพ์เงินอย่างเดียว ทั้งๆที่ตัวเองก็ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายขาดดุลการค้ามาตลอด มีสถานะเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของประเทศต่างๆทั่วโลก แถมยังสามารถจ่ายดอกเบี้ยน้อยลงไปเรื่อยๆอีกต่างหากเพราะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ออกประมูลใหม่ก็ต่ำลงไปเรื่อยๆ สรุปแล้วชาตินี้ประชาชนอเมริกันไม่ต้องทำมาค้าขายอะไรให้ได้กำไรก็ได้ แค่พิมพ์เงินไปเรื่อยๆ เป็นหนี้ใครก็พิมพ์เงินมาจ่ายคืนหนี้เก่าแล้วก็กู้ต่อ เพดานหนี้สาธารณะก็ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะไม่มีคนสนใจจะวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐ ใครคิดจะลดความน่าเชื่อถือรัฐบาลสหรัฐจากระดับสูงสุดก็มักมีอันต้องเกษียณอายุงานก่อนวัยอันควรอย่างที่เห็นๆกันมาแล้ว

สำหรับผมแล้วการทำ Q.E. เป็นการ “ปล้น” ความมั่งคั่งของประชาชนทั่วโลกไปแบบกลางวันแสกๆ ต่อหน้าต่อตา แถมยังบอกให้รู้ล่วงหน้าอีกต่างหาก สิ่งที่สหรัฐฯทำในช่วงที่ผ่านมานี้ถือเป็นการฉีกตำราเศรษฐศาสตร์ทุกฉบับที่พวกเขาเขียนขึ้นมาให้เราเรียน และทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่พวกเขาสอนให้เราทำในเวลาเราเกิดวิกฤต บางทีผมก็คิดลึกๆอยู่ในใจว่าตำราพวกนี้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อหลอกให้ประเทศกำลังพัฒนาเอาไปเรียนเพื่อประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจหรือเปล่า

ความจริงข้อนี้เป็นเรื่องนี่น่าเจ็บปวดสำหรับประเทศอื่นๆในโลกที่ได้กำไรจากการค้าขายกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะยุโรป ญี่ปุ่น และจีน พวกเขาเข้าใจดีกว่าแม้ว่าเขาจะค้าขายได้กำไรจากสหรัฐฯ เท่าไรก็ตาม สุดท้ายกำไรที่ได้มาก็ต้องไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อเก็บเงินสกุล USD เป็นเงินทุนสำรองอยู่ดี และไม่ว่าดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะต่ำเตี้ยไปจนเหลือ 0% หรือกระทั่งติดลบ พวกเขาก็จำเป็นที่ต้องซื้อมันอยู่ร่ำไป เสมือนกับว่าพวกเขาเป็นประเทศราชที่ต้องส่งบรรณาการให้สหรัฐฯได้ไปบริโภคใช้จ่ายอย่างฟุ้งเฟ้อทุกๆปี 

ในที่สุดแล้วประเทศต่างๆเหล่านี้ก็พยายามจะดำเนินนโยบายตอบโต้สหรัฐฯ เช่น ญี่ปุ่นเห็นสหรัฐฯ พิมพ์เงินได้ พวกเขาก็พิมพ์เงินบ้างแต่ที่ไม่เหมือนกันคือเมื่อพวกเขาพิมพ์เงินค่าเยนก็อ่อนฮวบจาก 80 เยนต่อ USD มาอยู่ที่ 120 เยนต่อ USD ในเดือนพฤศจิกายน 2557 อย่างไรก็ดีญี่ปุ่นมีข้อได้เปรียบที่ธุรกิจขนาดใหญ่ของพวกเขามีฐานการผลิตอยู่นอกประเทศ และเน้นการจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศ เช่น บริษัทรถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เมื่อค่าเงินเยนอ่อนก็ทำให้กำไรบริษัทจดทะเบียนเหล่านั้นเมื่อแปลงกลับเป็นสกุลเงินเยนสูงขึ้นและขายสินค้าง่ายขึ้นเพราะราคาสินค้าของผลิตญี่ปุ่นถูกลงเมื่อเทียบกับคู่แข่งทางการค้าอย่างเกาหลีใต้ได้ แปลง่ายๆว่าเยนยิ่งอ่อนบริษัทพวกเขายิ่งได้กำไร

นอกจากนี้การพิมพ์เงินเยนออกมายังจะช่วยทำให้ราคาสินค้า ราคาที่ดิน และราคาหุ้นของญี่ปุ่นที่ซบเซามาหลาย 10 ปีกระเตื้องขึ้น เป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งที่เป็นชาติที่ไม่ค่อยยอมใช้เงินถึงแม้ดอกเบี้ยเงินฝากจะอยู่ 0% ก็ยังฝากกัน ถึงขนาดว่านายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะดำเนินนโยบายนี้จนได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษกู้เศรษฐกิจญี่ปุ่นในรอบ 30 ปี และมีแนวโน้มจะชนะการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2557 อย่างถล่มทลายครองความยิ่งใหญ่ในญี่ปุ่นไปได้อีกหลายปี คนญี่ปุ่นช่างสามารถหาวิธีตามน้ำ Q.E. ของสหรัฐได้อย่างสุดยอดสมกับเป็นพันธมิตรกับสหรัฐมากว่า 70 ปีนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2



ฝั่งยุโรปเองเห็นความสำเร็จของสหรัฐ และญี่ปุ่นในด้านการพิมพ์เงินก็อยากทำบ้างเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคืองของกลุ่มประเทศตัวเอง แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่สามารถทำได้เพราะธนาคารกลางยุโรปประกอบไปด้วยตัวแทนจากหลายประเทศซึ่งมีความแตกต่างด้านเศรษฐกิจอย่างมาก การทำ Q.E. ของยุโรปอาจทำให้ค่าเงินสกุลยูโรอ่อนค่าลง และกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศขนาดใหญ่ที่มีวินัยทางการเงินดีเช่น เยอรมัน ซึ่งก็เป็นประเทศที่คัดค้านการทำ Q.E. มาตลอด แต่สุดท้ายแล้วธนาคารกลางยุโรปก็มีแนวโน้มที่จะทำ Q.E. ในปี 2558 เพียงต่อรอให้เงื่อนเวลา และข้อมูลต่างๆสนับสนุนการดำเนินนโยบายนี้มากขึ้นเท่านั้น


คนที่อยู่ในสถานะทีลำบากที่สุดคงจะหนีไม่พ้นจีน แม้ว่าจีนจะมีเงินทุนสำรองจำนวนมหาศาลและจริงๆแล้วจีนก็สามารถจะพิมพ์เงินออกมาได้โดยไม่กระทบกับความน่าเชื่อถือของค่าเงินหยวนมากนัก แต่การทำเช่นนั้นอาจทำให้สภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคธนาคารของจีนกลับมาเป็นปัญหาอีกครั้งหลังจากธนาคารกลางของจีนดำเนินนโยบายควบคุมฟองสบู่มานานหลายปี จีนจึงลังเลที่เดินตามประเทศมหาอำนาจทำ Q.E. อย่างเปิดเผย พวกเขาเลือกที่จะหาแนวร่วมในการต่อต้านการครองโลกทางเศรษฐกิจของสหรัฐด้วยการร่วมมือกับรัสเซีย และประเทศคู่ค้าของพวกเขาในการปฏิเสธการใช้เงินสกุล USD เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า และเรียกร้องให้ประเทศต่างๆในโลกสำรองเงินทุนในรูปสกุลเงินหรือสินทรัพย์อื่นๆ บ้างรวมถึง เงินสกุลหยวนและทองคำ เพื่อลดอิทธิพลของเงินสกุล USD ในตลาดการเงินโลก พร้อมกันนี้พวกเขาก็พยายามเปิดเสรีทางการเงินให้เงินสกุลหยวนมีอิสระมากขึ้นเพื่อให้เงินสกุลหยวนเป็นสกุลเงินที่ถูกใช้อ้างอิงกว้างขวางขึ้นในอนาคต ดังเห็นได้จากการเปิด Trade link ระหว่างตลาดหุ้นจีนที่เซี่ยงไฮ้และตลาดหุ้นจีนในฮ่องกงให้สามารถไปมาหาสู่กันได้มากขึ้น ในอนาคตจีนเองก็คงจะอยากเป็นอย่างสหรัฐที่สามารถกำหนดความเป็นไปของเศรษฐกิจโลกได้ด้วยตัวเองบ้าง เมื่อพวกเขาพร้อมและมีอำนาจทางทหารมากพอ

ก็คงจะเหลือแต่ประเทศเล็กๆอย่างเราๆนี่แหละที่ไม่สามารถจะทำอะไรได้ต้องปล่อยให้ทุกอย่างไปตามเกมของผู้มีอำนาจ เพราะถ้าหือขึ้นมาเดี๋ยวจะถูกประเทศมหาอำนาจกดดันทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านการทหาร เพราะอย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าใครมีกำลังทหารมากกว่าสามารถกำหนดความเป็นไปของประเทศที่มีอำนาจทางทหารด้อยกว่าทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ถ้าไม่เชื่อลองไปถามอิรักดูก็ได้ และถ้าสังเกตดูดีๆจะเห็นว่าสัญลักษณ์ของประเทศสหรัฐที่เป็นรูปนกอินทรี ในอุ้งเท้าทั้งสองของอินทรีด้านหนึ่งจะกำช่อมะกอกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งของคนสหรัฐ และอีกด้านนึ่งจะกำธนูซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจทางทหาร นั่นหมายความว่าคนสหรัฐเขาเข้าใจความสัมพันธ์เรื่องอำนาจทหารและอำนาจทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ ปี 1782 แล้ว และพวกเขาก็ถือครองความเข้มแข็งในสองด้านนั้นตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

ในฐานะที่ผมเองก็เป็นนักลงทุนคนหนึ่งซึ่งก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าได้รับประโยชน์จากราคาสินทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นหุ้น หรืออสังหาริมทรัพย์พอสมควรในช่วงที่ผ่านมา และถ้ายุโรปหรือจีนทำ Q.E. เพิ่มขึ้นผมก็คงจะได้ประโยชน์อีกนั่นแหละ แต่ก็อยากจะเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อเตือนใจผู้อ่านว่าเราในฐานะประเทศเล็กในตะวันออกไกลกำลังอยู่ในจุดใดของเกมชิงอำนาจของประเทศมหาอำนาจต่างๆ และไม่ถูกล่อลวงไปด้วยมายาของเกมการเงินซึ่งประเทศผู้เขียนหนังสือเรียนทางเศรษฐศาสตร์ให้พวกเรานั่งท่องเอาตำราเรียนเหล่านั้นมาปั่นหั่วหลอกกินความมั่งคั่งเราได้ตลอดไป

งานเขียนฉบับนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งอาศัยข้อสังเกตและประสบการณ์ส่วนตัวในตลาดทุนเท่านั้น ไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของผู้เขียน ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อนึ่ง ผู้เขียนแสดงทัศนะในบทความนี้ในเชิงส่วนตัวไม่ได้แสดงความเห็นแทนบริษัท คณะบุคคล มูลนิธิหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น

Credit : Written by
Indy Investor Forum 
14 ธันวาคม 2557


แหล่งที่มา จาก http://m.pantip.com/topic/33002341

ความคิดเห็น

เรื่องราวที่น่าสนใจ