ปัจจัยสำคัญของการเคลื่อนไหวในตลาดแลกเปลี่ยน



ปัจจัยสำคัญ 5 ประการ กับการเคลื่อนไหวในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

      เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา บ่อยครั้งที่มักจะได้ยินคำว่า “สงครามค่าเงิน” หรือ “Currency war” อันเป็นสงครามที่ไร้อาวุธยุทโธปกรณ์ แต่สามารถทำลายล้างเศรษฐกิจโลกได้ จากการที่ประเทศต่างๆ พยายามควบคุมค่าเงินสกุลของตนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ หรือการทำให้ค่าเงินของตนอ่อนค่า ดังจะเห็นได้ว่าในปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ประเด็นทางด้านค่าเงินเป็นประเด็นหลักที่นักลงทุนต่างจับตามอง ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนนั้นมีหลายปัจจัยด้วยกัน โดยมี 5 ปัจจัยหลักที่ต้องการหยิบยกมานำเสนอตามลำดับความสำคัญ ได้แก่

     
ปัจจัยแรก อัตราดอกเบี้ย โดยจะมีสองส่วนด้วยกันที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รายได้จากดอกเบี้ย และการเพิ่มขึ้นของเงินทุน จากปัจจัยนี้ จะเห็นว่า ทุกๆ สกุลเงินในโลก มีอัตราดอกเบี้ยเป็นสิ่งจูงใจในการเคลื่อนไหว ซึ่งอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวกำหนดโดยธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ ถ้าหากให้ปัจจัยอื่นๆ คงที่ โดยปกตินักลงทุนจะกู้ยืมเงินจากประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อไปลงทุนในประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อธุรกรรมว่า The Carry trade ซึ่งผลที่ได้คือ กำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และได้กำไรจากส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน จากการที่สกุลเงินของประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า มักมีแนวโน้มที่จะแข็งค่า
   
  ปัจจัยต่อมา การเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจากปัจจัยนี้จะสะท้อนได้ว่า ประเทศที่มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่า หรือมีอัตราการขยายตัวที่ดีกว่ามีแนวโน้มที่ธนาคารกลางจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยยับยั้งการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อ และจากปัจจัยข้างต้นที่กล่าวมาว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะเป็นตัวดึงดูดกระแสเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามา และอุปสงค์ของเงินที่ค่อนข้างมากจะทำให้มูลค่าของเงินมากขึ้นด้วยนั่นเอง
    
 ปัจจัยที่สาม ภูมิศาสตร์การเมือง  ความเสี่ยงทางเสถียรภาพทางการเมืองเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนต่างกังวล เนื่องจากกลัวว่าจะก่อให้เกิดอุปสรรค และความเสี่ยงต่อเงินทุน จึงมักจะโยกเงินลงทุนออกไปก่อนจนกว่าจะเห็นความชัดเจน และมีเสถียรภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ปัญหาทางการเมืองยังเป็นปัญหาที่จะฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อมายังค่าเงินตามปัจจัยข้างต้นที่ได้กล่าวถึงอีกด้วย
   
  ปัจจัยที่สี่ การค้าและกระแสเงินทุน ในส่วนนี้ ควรแยกพิจารณา ว่าระหว่างรายได้จากการค้าระหว่างประเทศ กับกระแสเงินทุนจากต่างชาติที่เข้ามาลงทุน มีผลต่อมีปริมาณกระแสเงินทุนไหลเข้าออกของประเทศมากน้อยแค่ไหน และอะไรมีผลมากกว่า เพราะทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนจะการเคลื่อนไหวไปตามผลกระทบนั้นมากกว่า
     
ปัจจัยสุดท้าย การควบรวมกิจการของธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญน้อยที่สุดในการตัดสินใจทิศทางค่าเงินในระยะยาว แต่มีประสิทธิภาพมากสำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินในระยะสั้น เนื่องจากเมื่อมีบริษัทในประเทศหนึ่ง จะซื้อสินทรัพย์ของบริษัทในอีกประเทศหนึ่ง ก็จะมีความจำเป็นที่ต้องแลกเงินเป็นสกุลเงินนั้นเพื่อใช้ในการชำระสินทรัพย์ดังกล่าว จากเหตุการณ์นี้จะทำให้ตลาดคาดการณ์ความผันผวนในระยะสั้นได้ว่า ค่าเงินสกุลที่เป็นที่ต้องการจะปรับตัวแข็งค่า
    
 จากปัจจัยทั้ง 5 ประการที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านคงได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นของการเคลื่อนไหวในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน สามารถเชื่อมโยงกับความเป็นไปที่เกิดขึ้นกับตลาดการเงินต่างๆ ได้ และสนุกกับการเคลื่อนไหวของค่าเงินอยู่ตลอดเวลา


ที่มา : ห้องความรู้บัวหลวง

ความคิดเห็น

เรื่องราวที่น่าสนใจ